“พาณิชย์” ลุยส่งเสริมธุรกิจบริการ New S-Curve หลังพบเป็นความหวังใหม่ในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เตรียมชง “สมคิด” ดันเป็นวาระแห่งชาติ เผยธุรกิจบริการไทยมีขีดความสามารถทั้งบริการด้านดิจิตอล การศึกษา อีคอมเมิร์ซ บริการผู้สูงอายุ บริการด้านสิ่งแวดล้อม และยังสามารถขยายบริการจากธุรกิจเดิมที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นบริการสถานีชาร์จรถไฟฟ้า ขายอาหารออนไลน์ บริการสุขภาพความงาม
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการส่งเสริมและผลักดันธุรกิจบริการที่เป็นแทรนด์ใหม่ของไทย (New S-Curve) ว่าขณะนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ส่งผลการศึกษาผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ในภาคธุรกิจบริการที่เป็นแทรนด์ใหม่ของไทยที่มีศักยภาพในการส่งเสริม และผลักดันให้มีการขยายตัว รวมถึงสามารถออกไปลงทุนหรือส่งออกไปต่างประเทศมาให้ตนพิจารณาแล้ว โดยในระยะสั้นจะมีการจัดทำแผนส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ประกอบการมีความรู้ในการทำธุรกิจ มีการขยายธุรกิจ และมีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ส่วนในระยะกลางและยาวจะหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ เพราะแนวโน้มในอนาคตไทยจะส่งออกธุรกิจบริการมากกว่าการส่งออกสินค้า
“ปัจจุบันภาคบริการถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ผลักดันเศรษฐกิจโลก โดยในปี 2559 มูลค่าการค้าบริการโลกขยายตัว 2.5% แต่การส่งออกภาคบริการของไทยขยายตัวถึง 10.4% ชี้ให้เห็นว่าภาคบริการของไทยเติบโตมากกว่าโลก ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องส่งเสริมภาคบริการให้มีความเข้มแข็ง เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในอนาคต”
นายสนธิรัตน์กล่าวว่า สำหรับธุรกิจบริการที่เป็น New S-Curve ได้แก่ ธุรกิจบริการด้านดิจิตอล คอนเทนต์ เช่น ธุรกิจบริการเกี่ยวกับการออกแบบเว็บไซต์ การสร้างซอฟต์แวร์เกม การสร้างภาพยนตร์แอนิเมชั่น การเขียนซอฟต์แวร์เสมือนจริง (Virtual) เป็นต้น, ธุรกิจบริการด้านการศึกษา เช่น ธุรกิจบริการด้านการฝึกอบรมบุคลากรในด้านต่างๆ ที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ อย่างด้านการโรงแรม การบิน การเกษตรและอาหาร ความงาม, ธุรกิจให้บริการ เช่น การทำบัญชี การทำตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) ธุรกิจการให้คำปรึกษาการทำสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media Consulting)
นอกจากนี้ ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ธุรกิจบริการที่เป็น New S-Curve ได้แก่ ธุรกิจบริการเกี่ยวกับผู้สูงอายุทั้งในและนอกบ้าน, ธุรกิจบริการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ที่เป็นแทรนด์ใหม่ของโลก เช่น ธุรกิจบริการด้านการทำขยะรีไซเคิล ธุรกิจบริการพลังงานทางเลือก เป็นต้น
นายสนธิรัตน์กล่าวว่า ธุรกิจบริการ New S-Curve ไม่จำกัดว่าต้องเป็นธุรกิจใหม่ ยังสามารถพัฒนากลุ่มธุรกิจเดิมให้เป็นธุรกิจบริการ New S-Curve ได้ เช่น ส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการสถานีบริการชาร์จไฟฟ้า เพราะไทยส่งเสริมให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ผลักดันให้เกิดธุรกิจบริการร้านอาหารที่ขายผ่านออนไลน์ รถยนต์ขายอาหาร (Food Truck) ธุรกิจบริการสุขภาพและความงามที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว ธุรกิจบริการกายภาพบำบัด ธุรกิจบริการการประชุมและนิทรรศการ และธุรกิจบริการซ่อมเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
สำหรับการพัฒนาธุรกิจบริการ New S-Curve เป็นการผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาภาคบริการให้ดียิ่งขึ้น และสอดคล้องกับความต้องการของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และยังจะสอดคล้องกับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่มุ่งผลักดันให้เกิดไทยแลนด์ 4.0