xs
xsm
sm
md
lg

กรมการค้าฯ ตั้งโต๊ะแถลงร่วมกรมบังคับคดี ยันเดินหน้ายึดทรัพย์"บุญทรง"และพวกโกงจีทูจี 2 หมื่นล้าน เตรียมตั้งเรื่อง 14 ก.พ.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมการค้าต่างประเทศและกรมบังคับคดี ตั้งโต๊ะชี้แจงการยึดอายัดทรัพย์ในคดีทุจริตขายข้าวจีทูจี 2 หมื่นล้าน ยืนยันไม่มีความขัดแย้งจนเป็นเหตุให้กระบวนการทำงานต้องล่าช้า แต่เป็นเรื่องใหม่ เผยเตรียมตั้งเรื่องให้ดำเนินการยึดอายัดทรัพย์ได้ 14 ก.พ.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ศาลปกครองได้มีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับคดีทางปกครองของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายอัฐฐิติพงศ์ หรือ อัครพงศ์ ทีปวัชระหรือช่วยเกลี้ยง อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2560 ที่ผ่านมา

วันนี้ (11 ก.พ.) นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และน.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี ได้ร่วมกันชี้แจงถึงแนวทางการเรียกค่าเสียหายในคดีทุจริตการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จากนายบุญทรง และพวกรวม 6 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 20,000 ล้านบาท ที่กระทรวงพาณิชย์

น.ส.รื่นวดี กล่าวว่า กรมบังคับคดีได้ตั้งคณะทำงาน เพื่อดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 56/2559 ซึ่งมีรองอธิบดีกรมบังคับคดีที่ดูแลสายงานคดีทางแพ่ง เป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยกรมการค้าต่างประเทศ โดยประสานในการยื่นคำขอตั้งสำนวนยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ทั้ง 6 ราย ไปตั้งแต่เดือน ก.ย. 2559 จากนั้นมีการประสานงานกับกรมการค้าต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และไม่มีความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานจนเป็นเหตุให้การดำเนินการล่าช้า แต่ติดระเบียบขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการทางคดีแพ่ง

โดยคดีนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มาตรา 57 ซึ่งอนุญาตให้นำวิธีพิจาณาความแพ่ง (วิ.แพ่ง มาตรา 271) มาใช้โดยอนุโลม โดยจะเริ่มจากโจทก์ (กรมการค้าต่างประเทศ) ยื่นตั้งเรื่องยึดอายัดทรัพย์ และส่งเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์ที่จะยึด ซึ่งขั้นตอนนี้ทางฝ่ายโจทก์ต้องเป็นผู้ไปดำเนินการสืบทรัพย์ หาข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่ทั้ง 6 ราย มีทรัพย์สินรายการใดบ้าง และต้องมีการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น โฉนดที่ดินต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานที่ดิน หรือบัญชีธนาคาร ก็ต้องได้รับการรับรองจากสถาบันการเงิน เป็นต้น มาประกอบการพิจารณา

“เมื่อได้ข้อมูลแล้ว เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดี จะพิจารณาคำขอยึดทรัพย์ จากนั้นจะรายงานต่อศาล เพื่อขออนุญาตขายทรัพย์ ซึ่งจะเข้าไปสู่ขั้นตอนการขายทอดตลาด แต่หากรายการทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ 6 ราย ไม่เพียงพอต่อมูลค่าหนี้ที่ต้องชำระ กรมบังคับคดีจะรายงานต่อศาลว่ามูลค่าทรัพย์ไม่เพียงพอกับมูลค่าหนี้ เพื่อให้โจทก์พิจารณาว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ทั้งนี้ การพิจารณาความแพ่งมีอายุความ 10 ปี”น.ส.รื่นวดีกล่าว

ด้านนางดวงพรกล่าวว่า ได้รับเอกสารการตั้งเรื่องยึดอายัดทรัพย์จากกรมบังคับคดีแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการและรวบรวมเอกสารทั้งหมด คาดว่าจะสามารถตั้งเรื่องและส่งกลับไปให้กรมบังคับคดีได้ภายในวันอังคารที่ 14 ก.พ.นี้ ส่วนที่ความคืบหน้าในคดีที่ล่าช้า เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับคดีทางปกครอง จึงต้องทำความเข้าใจและให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด เพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐ

“คดีนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวไม่มีประสบการณ์ แต่ที่ผ่านมา เมื่อมีการประสานงานในขั้นตอนให้ทางกรมฯ จัดหาข้อมูลอะไร กรมฯ ก็ดำเนินการมาตลอด ไม่ได้นิ่งนอนใจ รวมทั้งยังได้จัดตั้งทีมกฎหมายเข้ามาดูข้อมูล และศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะมาตลอด ซึ่งตอนนี้ก็ดำเนินการมาถึงขั้นตอนเตรียมตั้งเรื่องแล้ว โดยในวันที่ 14 ก.พ.นี้ จะเป็นการตั้งเรื่องยึดทรัพย์พร้อมกันทั้ง 6 คน”นางดวงพรกล่าว

สำหรับการแถลงข่าวด่วนในครั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก และอยากให้ประชาชนเข้าใจถึงขั้นตอนการดำเนินงานอย่างถูกต้อง

ด้านน.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรมบังคับคดีได้ส่งแบบฟอร์มที่จะต้องกรอกมาให้แล้ว คาดว่ากรมการค้าต่างประเทศจะดำเนินการ และในวันอังคารที่ 14 ก.พ.นี้ เอกสารต่างๆ จะครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่กรมบังคับคดีขอมา และจะจัดส่งไปให้ได้ ส่วนเหตุผลที่การดำเนินการล่าช้า เพราะแต่ละหน่วยงานไม่ได้มีประสบการณ์ในการดำเนินการในกรณีลักษณะนี้ ไม่ใช่เป็นการดึงเรื่อง แต่มีรายละเอียดการทำงานค่อนข้างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น