xs
xsm
sm
md
lg

BTS ยังต้องลุ้น รฟม.เคลียร์ข้อ กม.ก่อนรับข้อเสนอขยายเส้นทางโมโนเรล “ชมพู-เหลือง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รฟม.โดย กก.มาตรา 35 เร่งหารือ สคร.เคาะรับข้อเสนอกลุ่ม BTS เสนอต่อขยายเส้นทางโมโนเรล “ชมพู-เหลือง” เชื่อมเข้าเมืองทอง, รัชโยธิน เล็งพ่วงแนบท้ายสัญญาหลักโดยลงนามไปพร้อมกัน ส่วนการดำเนินงานจะทยอยหลังจากผ่านขั้นตอน คจร.และสิ่งแวดล้อมก่อน
 
นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.เอกชนร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2556 โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. มีมูลค่าลงทุนรวม 53,519.50 ล้านบาท และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. มูลค่าลงทุนรวม 51,931.15 ล้านบาท กล่าวว่า ขณะนี้การพิจารณาผลการประกวดราคายังติดปัญหาข้อเสนอเพิ่มเติมซองที่ 3 ซึ่งว่า กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) (ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTS Group) บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)) เสนอต่อขยายเส้นทางสีชมพูเชื่อมเข้าเมืองทองธานีเข้าไปยังเมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กม. (2 สถานี) เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น มีศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า และต่อเชื่อมสีเหลืองระยะทาง 2.6 กม. จากสถานีรัชดาภิเษก เพื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สี่แยกรัชโยธิน เพื่อแก้ปัญหาจราจรที่ถนนลาดพร้าว

ซึ่งคณะกรรมการฯ มาตรา 35 ได้ทำหนังสือหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อสอบถึงว่า กก.มาตรา 35 มีอำนาจในการพิจารณาในข้อเสนอเพิ่มเติมดังกล่าวหรือไม่ หากมีอำนาจ กก.มาตรา 35 จะพิจารณาว่าจะรับข้อเสนอหรือไม่รับ และหากรับจะรับแบบไหน เช่น ทำเป็นเรื่องแนบท้ายไปกับสัญญาหลัก เป็นต้น โดยหาก สคร.ตอบกลับมาในสัปดาห์หน้า คณะ กก. มาตรา 35 จะพิจารณาในส่วนของสัญญาหลัก ส่วนเพิ่มเติมได้ข้อยุติในเดือน ก.พ.นี้ และเสนอผลการพิจารณาต่อ คจร. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบต่อไป และจะลงนามได้ในเดือน เม.ย.ตามแผน

ส่วนการดำเนินงานในประเด็นเพิ่มเติมนั้น หาก รฟม.รับข้อเสนอและทำเป็นแนบท้ายของสัญญาหลัก จะต้องนำเสนอเพื่อขออนุมัติจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และต้องทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA ) ก่อนจึงจะดำเนินการได้ เพราะส่วนต่อขยายยังไม่เคยมีในแผนแม่บทและไม่เคยศึกษา EIA

“ตอนนี้ส่วนของสัญญาหลักตามแผนงาน ซึ่งใช้รูปแบบ PPP Net Cost ใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว ซึ่งส่วนนี้เป็นเงื่อนไขเดิมที่จะต้องดำเนินการ มีระยะเวลาสัมปทานทั้งสิ้น 33 ปี 3 เดือน หากทำไม่ทันจะมีบทปรับ ในส่วนของการดำเนินงานจะต้องแยกเรื่องสัญญาหลักมาทำให้เป็นไปตามกรอบแผนงานก่อน ส่วนข้อเสนอเพิ่มเติมในซองที่ 3 นั้นดำเนินการภายหลังได้ เพราะต้องรอผ่านขั้นตอน คจร.และสิ่งแวดล้อม แต่อาจต้องขออนุมัติและลงนามสัญญาไปพร้อมกัน ในขณะที่ต้องยอมรับว่าที่ BTS เสนอเป็นเรื่องที่เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ” นายธีระพันธ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น