xs
xsm
sm
md
lg

“กบง.” สั่งเกาะติดแผนรับมือ 2 แหล่งก๊าซฯ หยุดจ่ายยาดานา-JDA (A18)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กบง.” สั่งเตรียมแผนรับมือก๊าซหยุดจ่ายโดยเฉพาะ 2 ช่วงเวลาได้แก่ แหล่งยาดานา 25 มี.ค. - 2 เม.ย. 60 และ JDA (A18) 31 ส.ค. - 6 ก.ย. 60 เหตุกระทบปริมาณไฟฟ้าค่อนข้างสูง สั่งงัดมาตรการรับมือทั้งการผลิตและการใช้


นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กบง.ได้พิจารณาแผนการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ ปี 2560 และมาตรการรองรับผลกระทบด้านพลังงานไฟฟ้าโดยเฉพาะแหล่งที่ค่อนข้างมีผลกระทบที่ต้องติดตามใกล้ชิดซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา ได้แก่ 1. แหล่งก๊าซยาดานาที่จะหยุดจ่ายระหว่าง 25 มี.ค.- 2 เม.ย. 2560 ที่ส่งผลให้แหล่งอื่นๆ ทั้งเยตากุน และซอติก้า ต้องหยุดไปด้วย กับ 2. แหล่งก๊าซฯ JDA (บล็อก A18) วันที่ 31 ส.ค. - 6 ก.ย. 2560

ทั้งนี้ กรณีแหล่งก๊าซฯ ยาดานาหยุดจ่ายสาเหตุมาจากปัญหาด้านเทคนิคส่งผลให้ก๊าซฯ จะหายไป 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทำให้มีผลกระทบต่อโรงไฟฟ้ารวม 9,000 เมกะวัตต์ (MW) กระทรวงพลังงานจึงได้ประสานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บมจ.ปตท.บริหารจัดการได้ 6,000 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือต้องหยุดการผลิตโดยแนวทางบริหารด้านการผลิตจะมี 4 มาตรการ ได้แก่ 1. ให้โรงไฟฟ้าที่สามารถเปลี่ยนแปลงเชื้อเพลิงได้ซึ่งมี 4 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าราชบุรีสำรองน้ำมันเตา 55.7 ล้านลิตร โรงไฟฟ้าบางปะกงสำรองน้ำมันเตา 35.9 ล้านลิตร รวมเป็นสำรองน้ำมันเตา 91.7 ล้านลิตร ขณะที่โรงไฟฟ้าไตรเอ็นเนอร์ยี่สำรองดีเซล 8.2 ล้านลิตร และราชบุรีสำรองดีเซล 8 ล้านลิตร รวม 16 ล้านลิตร

มาตรการที่ 2 ปรับให้โรงไฟฟ้าพระนครเหนือมาจากเดิมที่ใช้ก๊าซฝั่งตะวันตกสลับมาใช้ก๊าซฝั่งตะวันออกแทน มาตรการที่ 3 ห้ามหยุดการซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าอื่นๆ ในช่วงเวลาก๊าซฯ หยุด มาตรการที่ 4 ให้ กฟผ. และ กฟน.ตรวจสอบระบบสายส่งและการจำหน่ายให้อยู่ในช่วงพร้อมงานและเร่งรัดซ่อมบำรุงให้เสร็จ ส่วนทางด้านการบริหารความต้องการใช้ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) ดำเนินมาตรการ Demand Respond และมอบให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์การประหยัดพลังงาน

สำหรับกรณี JDA (A18) จะกระทบต่อโรงไฟฟ้าภาคใข้โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจะนะ 2 ยูนิตต้องปิดลงแต่จะนะจะมีส่วนของดีเซลสามารถเดินเครื่องส่วนนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ได้ประเมินว่าการใช้ไฟฟ้าสูงสุดหรือพีคภาคใต้ปีนี้จะอยู่ที่ 2,657 เมกะวัตต์ ขณะที่การผลิตของโรงไฟฟ้าภาคใต้ทุกโรงรวมกับโรงไฟฟ้าจะนะจะเดินได้ 2,242 เมกะวัตต์ ไฟจะขาดไป 415 เมกะวัตต์ ดังนั้นจำเป็นจะต้องส่งไฟจากภาคกลางไปภาคใต้เต็มที่ 550 เมกะวัตต์ โดยกำหนดให้ซื้อไฟจากมาเลเซียเป็นทางเลือกสุดท้าย ขณะเดียวกันให้โรงไฟฟ้าอื่นๆ สำรองน้ำมันไว้เผื่อด้วย เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น