“พาณิชย์” เดินหน้าแก้ปัญหาการค้ายอดวูบ หลัง สปป.ลาวเก็บ VAT 10% ชงสรรพากรตั้งจุดบริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่หน้าด่านหนองคาย เพื่อกระตุ้นให้ชาวลาวข้ามฝั่งกลับมาซื้อสินค้าไทยเหมือนเดิม พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหา สปป.ลาวออกระเบียบให้ 7 ด่านท้องถิ่นและด่านประเพณีนำเข้าสินค้าได้แค่ 2 กลุ่ม หวั่นกระทบการส่งออกของไทย
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า คณะกรรมการส่งเสริมการค้าชายแดนและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ได้หารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหามูลค่าการค้าเมืองหน้าด่านไทย-สปป.ลาว โดยเฉพาะจังหวัดหนองคายและอุดรธานี ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ สปป.ลาวได้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับสินค้าที่นำเข้าติดตัวในอัตรา 10% ทั้งจากชาวลาวและชาวต่างชาติ จึงได้เสนอให้กรมสรรพากรเร่งรัดการพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งจุดบริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Refund) ในพื้นที่ชายแดนที่เชื่อมต่อกับ สปป.ลาว ที่บริเวณด่านศุลกากรสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาวแห่งที่ 1 จังหวัดหนองคาย
“ปกติการตั้งจุดคืน VATจะมีตามท่าอากาศยานต่างๆ แต่ได้เสนอให้มีการตั้งจุดคืน VAT ที่ด่านบก เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบด้านการค้าที่ลดลง เพราะเมื่อชาวลาวเข้ามาซื้อสินค้าไทย และได้คืน VAT 7% ที่ด่าน เมื่อนำเข้าไปยัง สปป.ลาว และถูกเรียกเก็บ VAT 10% ก็ช่วยลดต้นทุนได้ เพราะเสียเพิ่มอีกแค่ 3% ซึ่งจะเป็นการจูงใจให้ชาวลาวข้ามแดนกลับเข้ามาซื้อสินค้าในไทยเหมือนเดิม โดยขณะนี้กรมสรรพากรกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา” นายอดุลย์กล่าว
ส่วนกรณีที่มีความกังวลว่าจะมีการนำสินค้าที่ได้รับสิทธิการคืน VAT ไปแล้วหมุนเวียนกลับเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยอีกนั้นแทบจะไม่มีความเป็นไปได้ เพราะที่ตั้งของด่านศุลกากรไทยและ สปป.ลาวตั้งอยู่บนเชิงสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาวแห่งที่ 1 ทั้งสองฝั่ง เมื่อมีการขอคืน VAT 7% ที่ฝั่งไทยแล้ว จะต้องข้ามสะพานไปเสียภาษี VAT 10% ที่ด่านศุลกากรฝั่ง สปป.ลาว ทำให้สินค้ามีราคาสูงกว่าฝั่งไทย จึงไม่มีเหตุจูงใจให้มีการลักลอบนำกลับเข้ามา
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ สปป.ลาวได้เก็บ VAT 10% เมื่อเดือน พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา พบว่าปริมาณการค้าและชาวลาวที่เดินทางข้ามแดนเข้ามาซื้อสินค้าในฝั่งไทยลดลงกว่า 50% และชาวลาวยังได้ขอให้ผู้ขายสินค้าไทยออกใบเสร็จรับเงินหลายใบ เพื่อให้มีวงเงินไม่เกินใบเสร็จละ 1,500 บาท ซึ่งภาคเอกชนในพื้นที่ได้ร้องขอให้ภาครัฐเข้ามาให้ความช่วยเหลือ และได้มีการประชุมหารือกันไปเมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยเห็นตรงกันที่จะใช้แนวทางดังกล่าวแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นายอดุลย์กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ยังได้มีการหารือผลกระทบจากกรณีที่ สปป.ลาวได้จำกัดการนำเข้าบริเวณด่านท้องถิ่นและด่านประเพณี โดยทั้งสองด่านนี้จะอนุญาตให้นำเข้าสินค้าเพียง 2 กลุ่ม คือ สินค้าเครื่องใช้อุปโภคบริโภคที่ใช้ในการผลิตและการดำรงชีวิตของประชาชน และสินค้าเกษตร ได้แก่ รถไถเดินตาม เครื่องสูบน้ำ เครื่องนวดข้าว โรงสีข้าว พันธุ์พืช ปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืช อาหารสัตว์ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการประมงของท้องถิ่นเท่านั้น โดยได้เริ่มใช้ที่ด่านท้องถิ่นปากตะพาน เมืองละคอนเพ็ง แขวงสาละวัน ตรงข้ามจุดผ่านแดนถาวรบ้านปากแซง อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 ที่ผ่านมา
โดยผลการพิจารณาพบว่าไทยมีจุดผ่านแดนทางการค้ากับ สปป.ลาว 48 ด่าน เป็นจุดผ่านแดนถาวร 19 แห่ง และจุดผ่อนปรน 29 แห่ง โดยพบว่า 41 ด่านไม่ได้รับผลกระทบ มีเพียงแค่ 7 ด่าน คือ ด่านเมืองต้นผึ้ง ด่านเมืองแก่นท้าว ด่านเมืองสานะคาม ด่านบ้านวัง ด่านท่าเดื่อ ด่านเมืองละคอนเพ็ง และด่านผาแก้ว ที่ได้รับผลกระทบ เพราะเป็นด่านท้องถิ่นและด่านประเพณีของ สปป.ลาว ซึ่งเดิมสามารถทำการค้าได้ทุกประเภท แต่หลังมีประกาศก็จะทำการค้าได้เพียงแค่ 2 กลุ่มเท่านั้น ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาหาแนวทางแก้ไขแล้ว