“อาคม” เผยสัปดาห์หน้าชง ครม.ขออนุมัติเซ็นสัญญาจ้าง BEM ติดตั้งและเดินรถ 1 สถานีช่วงเตาปูน-บางซื่อ คาดเปิดทันต้น ส.ค. 60 นี้ ขณะที่เตรียมแผนลงทุนรถไฟฟ้ารางเบาที่ภูเก็ต 17,944 ล้านบาท แก้จราจรยั่งยืน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อวันที่ 30 ม.ค. กระทรวงคมนาคมได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงาน เรื่องการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ตามมาตรา 44 ซึ่งคณะกรรมการร่วมตามมาตรา 43 และคณะกรรมการมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ 2556 ได้เจรจากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้เป็นผู้ติดตั้งระบบรถไฟฟ้า และบริหารการเดินรถไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว
และมีคำสั่งมาตรา 44 ที่ให้แยกการเดินรถ 1 สถานี ช่วงเตาปูน-บางซื่อ ระยะทาง 1 กม.ออกมาดำเนินการก่อน โดยมอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เจรจากับเอกชน ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและบริหารการเดินรถ ขณะนี้ รฟม.ได้สรุปเรื่องเสนอมายังกระทรวงคมนาคมแล้ว ซึ่งจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุมวันที่ 7 ก.พ. และขั้นตอนหลังจากนั้นจะเป็นการลงนามสัญญากับเอกชนเพื่อเริ่มติดตั้งระบบและทดสอบ แล้วเสร็จภายใน 5 เดือน คาดว่าจะเปิดเดินรถได้ในต้นเดือน ส.ค. 60
นอกจากนี้ยังรายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหาจราจรในภูมิภาคซึ่งมี 6 จังหวัดที่มีปัญหาจราจรติดขัดมาก คือ เชียงใหม่, ขอนแก่น, นครราชสีมา, หาดใหญ่, ภูเก็ต และพิษณุโลก โดยพบว่าจังหวัดภูเก็ตและเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญลำดับต้น โดยล่าสุดสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาออกแบบการแก้ปัญหาจราจรที่จังหวัดภูเก็ตแล้ว เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Tram) โดยเตรียมนำเสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติต่อไป
ทั้งนี้ รถไฟฟ้ารางเบา จ.ภูเก็ต จะมีระยะทาง 60 กม. เริ่มจากสถานีท่านุ่น-อ่าวฉลอง มีจำนวน 23 สถานี วงเงินลงทุน17,944 ล้านบาท ผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 23.78% อัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 18 บาท และ 2.50 บาทต่อ กม. คาดว่าจะมีผู้โดยสารในปีที่เปิดให้บริการ 68,000 คน/วัน และปีที่ 30 จำนวน 140,000 คน/วัน และยังเป็นโครงการที่อยู่ในแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ปี 60 ของกระทรวงคมนาคมด้วย ส่วนระบบรางที่จังหวัดเชียงใหม่จะเป็นรถไฟฟ้ารางเบาเช่นกัน โดยอยู่ในระหว่างการทบทวนตัวเลขปริมาณจราจร ส่วนจังหวัดที่เหลืออยู่ระหว่างการศึกษาและจะทยอยนำเสนอคมนาคมต่อไป
“เบื้องต้นจะมอบหมายให้ รฟม.เป็นเจ้าของโครงการระบบขนส่งมวลชนในภูมิภาค ขณะที่รูปแบบการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นการร่วมมือระหว่าง รฟม.กับท้องถิ่น ส่วนการเดินรถนั้นจะพิจารณาทั้งการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนหรือให้ท้องถิ่นร่วมลงทุนด้วย ถือว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวของ จ.ภูเก็ตมาก” นายอาคมกล่าว