xs
xsm
sm
md
lg

สนข.เร่งตั๋วร่วม “แมงมุม” มิ.ย.นี้ ใช้ใบเดียวขึ้นรถเมล์เชื่อมต่อรถไฟฟ้า 4 สายได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สนข.เร่งรัดการพัฒนาระบบตั๋วร่วมในชื่อ “บัตรแมงมุม” เพื่อความสะดวกสบายในการเชื่อมต่อการเดินทางทุกรูปแบบให้กับประชาชน ภายในเดือน มิ.ย. 60 “รถเมล์-รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน-สายสีม่วง-BTS-แอร์พอร์ตลิงก์” เริ่มใช้งาน และขยายไปที่ “ทางด่วน-เรือโดยสาร” ธ.ค. 60 เพิ่มศักยภาพการให้บริการของระบบขนส่งมวลชน ให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางและเชื่อมต่อ

รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผน การขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข.ได้ดำเนินการพัฒนาระบบตั๋วร่วม (Common Ticketing System) ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 เพื่อจัดทำนโยบายกำหนดมาตรการ/มาตรฐานระบบตั๋วร่วม ดำเนินการจัดหาผู้พัฒนาระบบตั๋วร่วมและจัดทำระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House : CCH) และการกำกับดูแลการดำเนินงานของผู้พัฒนาระบบ รวมทั้งการดำเนินงานอื่นๆ ที่เป็นการสนับสนุนการดำเนินงานระบบตั๋วร่วมให้ประสบความสำเร็จ สนข.ได้เร่งดำเนินงานพัฒนาระบบตั๋วร่วมในชื่อ “บัตรแมงมุม” เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการเชื่อมต่อการเดินทางทุกรูปแบบให้แก่ประชาชนด้วยบัตรเพียงใบเดียว

โดยได้กำหนดแผนงานเพื่อให้ระบบตั๋วร่วมสามารถใช้เดินทางในระบบรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. และระบบรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีเขียว และสายแอร์พอร์ตลิงก์ ในเดือนมิถุนายน 2560 นี้ และให้สามารถใช้ระบบตั๋วร่วมกับระบบทางพิเศษ และระบบเรือโดยสาร ในเดือนธันวาคม 2560 นอกจากนี้ ระบบตั๋วร่วมยังได้ออกแบบให้รองรับกับระบบการจ่ายเงินสวัสดิการสังคมและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ภายใต้โครงการระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) ของรัฐบาล โดยกระทรวงการคลังได้กำหนดแผนบูรณาการเข้ากับระบบจ่ายเงินสวัสดิการภาครัฐสำหรับพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ให้เริ่มใช้ได้ในเดือนตุลาคม 2560

นอกจากนี้ ระบบรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ ประชาชนก็จะสามารถใช้ระบบตั๋วร่วมในการเดินทางในรถไฟฟ้าสายต่างๆ เหล่านั้นได้ด้วย ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางเชื่อมต่อทุกรูปแบบ ด้วย “บัตรแมงมุม” เพียงใบเดียว ซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

โดยแผนการดำเนินงาน คือ 1. กำหนดมาตรฐานกลางระบบตั๋วร่วม (Common Ticketing System Standard) เพื่อให้ผู้ประกอบการระบบขนส่ง นำไปปรับปรุง และจัดทำระบบจัดเก็บรายได้ให้มีมาตรฐานเดียวกัน และเตรียมการเพื่อเข้าสู่การใช้งานระบบตั๋วร่วมร่วมกันต่อไป 

2. จัดทำระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House : CCH) ในภาคขนส่ง แล้วเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน 4 สาย ประกอบด้วย ระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน) ระบบรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม (รถไฟฟ้าสายสีม่วง) ระบบรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์) และระบบรถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา สายที่ 1 และสายที่ 2 (รถไฟฟ้าสายสีเขียว) เพื่อดำเนินการปรับปรุงระบบจัดเก็บค่าโดยสารให้สามารถรองรับการใช้ระบบตั๋วร่วม และเจรจากับผู้ประกอบการระบบขนส่งรายใหม่ ให้มีการติดตั้งระบบจัดเก็บค่าโดยสารตามมาตรฐานกลางระบบตั๋วร่วมเพื่อรองรับการใช้งาน “บัตรแมงมุม” เมื่อเปิดให้บริการ เช่น ระบบรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ รถโดยสารประจำทาง ระบบทางพิเศษ เป็นต้น รวมทั้งอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการนอกภาคขนส่ง เช่น ร้านค้าสะดวกซื้อ เพื่อจัดเตรียมระบบฯ ให้สามารถรองรับการใช้งานร่วมกับระบบตั๋วร่วมต่อไป

3. เตรียมการนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบการดำเนินงานและการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และแนวทางการจัดตั้งหน่วยงานบริหารจัดการ และบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม (CTC) รวมทั้งการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ... เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในการดำเนินงานระบบตั๋วร่วมต่อไปแผนการดำเนินงานระบบตั๋วร่วมในปี 2560
กำลังโหลดความคิดเห็น