xs
xsm
sm
md
lg

ปิดตำนานรถตู้! ดีเดย์ 1 ก.ค.60 บขส.ซื้อมินิบัส 55 คัน นำร่องบริการ 13 เส้นทาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
คมนาคม สั่ง บขส. จัดหารถมินิบัส 55 คัน นำร่องวิ่งใน 13 เส้นทาง เตรียมชงบอร์ด ประเมินราคาคันละ 2.2 - 2.9 ล้าน ย้ำ ประมูลเปิดกว้าง ผลิตในประเทศ หรือนำเข้าได้หมด ด้าน ขบ. เร่งกำหนดเส้นทางให้สอดคล้องกับผู้โดยสารรองรับการเปลี่ยนผ่าน พร้อมออกมาตรการหนุนผู้ประกอบการรถตู้ให้ทยอยเปลี่ยนเป็นมินิบัส และ กรณีเปลี่ยนทะเบียนไปเป็นรถตู้ขนส่งสิ่งของ พร้อมเป็นคนกลางหาลูกค้าให้

นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมโครงการศึกษาความปลอดภัยในการใช้รถตู้โดยสารประจำทาง ว่า ได้มอบหมายให้บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จัดทำโครงการนำร่องในการนำรถโดยสารขนาดเล็ก (มินิบัส) จำนวน 13 เส้นทาง (หมวด 2 ) เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 60 โดยจะไม่กระทบกับผู้ประกอบการายเดิม ขณะที่นับจากวันนี้เป็นต้นไป จะไม่มีการออกใบอนุญาตรถตู้โดยสารสาธารณะใหม่ และรถตู้โดยสารเก่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะดำเนินการมาตรการเพื่อความปลอดภัยอย่างเข้มข้น ตั้งแต่จะต้องติดระบบ GPS ทุกคัน ภายในวันที่ 31 มี.ค. 60, รถตู้โดยสารทุกคันจะต้องออกจากสถานีขนส่ง, จะต้องมีการตรวจความพร้อมของรถและคนขับก่อนที่จะออกจากสถานี และจะต้องมีคู่มือประจำรถ และประจำตัวคนขับ โดยจะมีจุดตรวจสภาพรถและคนขับระหว่างทาง

 ทั้งนี้ กรมขนส่งฯ จะกำหนดเส้นทางเดินรถมินิบัส และออกมาตรการสนับสนุน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนผ่านจากรถตู้โดยสารเดิมไปเป็นรถโดยสารขนาดเล็ก หรือกรณีที่ต้องการออกจากระบบรถโดยสาร จะสนับสนุนในการนำรถตู้เปลี่ยนหมวดจดทะเบียนการใช้งานรถเป็นรถขนส่งสิ่งของได้ รวมถึงเป็นคนกลางในการช่วยจัดหางานขนส่งให้ ซึ่งเป้าหมายเพื่อลดจำนวนรถตู้ออกจากระบบโดยสารหลังจากนี้ จะมีการหารือถึงมาตรการความช่วยเหลืออื่นๆ เช่น มาตรการทางภาษี การเงิน ต่อไป

“โครงการนำร่องรถมินิบัสของ บขส. จะเปิดกว้างTOR ไม่กีดกัน ทั้งประกอบในประเทศเพื่อสนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตรถในประเทศ หรือสามารถนำเข้าจากต่างประเทศได้ โดย บขส. จะกำหนดสเปกรถที่ต้องการ ใครผลิตหรือจัดหาได้มีสิทธิ์หมด ส่วนรถตู้โดยสารซึ่งกำหนดอายุ 10 ปี แต่หากอายุยังไม่ถึง แต่สภาพรถใช้การไม่ได้แล้ว จะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เช่นกัน ซึ่งหากผู้ประกอบการต้องการประกอบการเดินรถในเส้นทางนั้นต่อ จะต้องเปลี่ยนมาเป็นรถมินิบัส มาตรการเปลี่ยนผ่านนี้จะเป็นการสมัครใจ ค่อยเป็นค่อยไป มีผลกระทบน้อยที่สุด”

นายนพรัตน์ การุณยะวนิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบริหารการเดินรถ บขส. กล่าวว่า บขส. จะจัดหารถมินิบัส ม 2. (ค) ขนาด 22 ที่นั่ง เป็นโครงการนำร่องจำนวน 55 คัน ให้บริการใน 13 เส้นทาง ซึ่งเป็นเส้นทางเดิมที่ บขส. เคยให้บริการเดินรถมาตรฐาน 2 (รถขนาด 30 ที่นั่ง) อยู่ก่อนแล้ว แต่ได้ยกเลิกไป จึงเป็นการจัดรถมินิบัสไปวิ่งทดแทน  ไม่ส่งกระทบต่อผู้ประกอบการรถตู้โดยสารแต่อย่างใด โดยจะจัดทำรูปแบบมาตรฐานตัวรถตามที่ขนส่งกำหนด และนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) บขส. ขออนุมัติเบื้องต้นรถโดยสารขนาดเล็ก ขนาด 22 ที่นั่ง ความยาว 10 เมตร ราคาตลาดอยู่ที่ประมาณ 2.2 - 2.9 ล้านบาทต่อคัน

สำหรับ 13 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพ - อยุธยา, กรุงเทพ - สระบุรี ซึ่งมีรถตู้โดยสารให้บริการอยู่เส้นทางละ 190 - 200 คัน บขส. จะจัดรถมินิบัสเส้นทางละ 10 คัน เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสาร ที่เหลือจะกระจายใน 11 เส้นทางๆ ละ 2 - 3  คัน เช่น กรุงเทพ - สุพรรณบุรี, กรุงเทพ - ท่าหลวง - ลำนารายณ์, กรุงเทพ - แกลง - จันทบุรี, กรุงเทพ - ระยอง - บ้านเพ, กรุงเทพ - ตราด, กรุงเทพ - วัฒนานคร - ตลาดโรงเกลือ, กรุงเทพ - นครสวรรค์, กรุงเทพ - ปากช่อง, กรุงเทพ - หัวหิน, กรุงเทพ - ปราณบุรี - ประจวบคีรีขันธ์

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า ในการนำร่องจัดหารถมินิบัส นโยบายของกระทรวงคมนาคมให้ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ตามกฎหมายทุกขั้นตอน และเปิดกว้างให้มีการแข่งขันด้วยความโปร่งใส ทั้งการกำหนด TOR การกำหนดราคากลาง และการประมูล ส่วนการเปลี่ยนผ่านจะให้มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการน้อยที่สุด ซึ่งกรมฯอยู่ระหว่างการจัดเส้นทางเดินรถหมวด 2 (กรุงเทพ - ต่างจังหวัด) ปัจจุบันเป็นของ บขส. 205 เส้นทาง มีรถตู้ 5,200 คัน และหมวด 3 (วิ่งระหว่างจังหวัด) มี 69 เส้นทาง จำนวน 3,900 คัน 

“จะไม่มีเกณฑ์ว่ารถตู้กี่คันเปลี่ยนเป็นมินิบัสกี่คัน เพราะจะต้องขึ้นกับความพร้อมของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ กรมฯจะมีการกำหนดเส้นทางให้สอดคล้องกับความต้องการ และมีสถานีขนส่งเป็นจุดปล่อยรถ และอาจจะมีรถตู้ส่วนหนึ่งออกจากระบบ เพราะไม่พร้อมในการบริการส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งหลักการคงไม่ใช่รถตู้ 1 คัน เปลี่ยนเป็นรถมินิบัส 1 คัน เพราะจะเกิดความไม่คุ้มค่าขึ้น ดังนั้น การอนุมัติจะดูปริมาณผู้โดยสารในเส้นทางนั้น ดีมานด์ซัปพลายต้องสอดคล้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดการวิ่งแข่งกัน และยังมีเส้นทางที่ไม่มีคนสนใจอีก ซึ่งรัฐต้องกำหนดจำนวนรถขั้นต่ำให้เหมาะสม” นายสนิท กล่าว
 
 
 
 


กำลังโหลดความคิดเห็น