กรมทรัพย์สินทางปัญญาช่วยผู้ประกอบการสินค้า GI ภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ประสานท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เกต นำสินค้าช่วยจำหน่าย พร้อมผ่อนผันระยะเวลายื่นคำขอ คำร้อง หรือการดำเนินการอื่นที่กฎหมายกำหนดให้แก่ผู้ประกอบการ
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้หารือกับห้างค้าปลีกชั้นนำ เช่น บริษัท เซ็นทรัล ฟู๊ดรีเทล จำกัด เพื่อร่วมมือในการจัดหาพื้นที่จำหน่ายผลผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ โดยเบื้องต้นทางห้างพร้อมที่จะนำส้มโอทับทิมสยามปากพนังไปจำหน่ายในท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เกต หลังจากที่ยอดจำหน่ายลดลงจากการถูกน้ำท่วมและจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง
สำหรับสินค้า GI อื่นๆ เช่น ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง จ.พัทลุง ที่เกษตรกร 13 กลุ่ม ผลผลิตเสียหายประมาณ 50% ของพื้นที่เพาะปลูก เนื่องจากเป็นข้าวนอกฤดูกาลที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว กล้วยเล็บมือนาง จ.ชุมพร ได้รับความเสียหายมากทั้งผลสดและแปรรูป ส่งผลทำให้วัตถุดิบลดลงมาก ไข่เค็มไชยา และหอยนางรมสุราษฎร์ธานี ได้รับความเสียหายจากเป็ดและหอยนางรมตายเป็นจำนวนมาก จะมีการติดตามและประสานความช่วยเหลือต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของส้มโอทับทิมสยามปากพนัง พบว่ามีพื้นที่เสียหายประมาณ 2,000 ไร่ ใน อ.ปากพนัง 17 ตำบล จำนวนเกษตรกร 57 ราย ได้รับความเสียหาย แบ่งเป็นต้นส้มโอทับทิมสยามปากพนังต้นเล็ก เสียหาย 100% กับต้นส้มโอทับทิมสยามปากพนังต้นใหญ่ จะรอดูสถานการณ์น้ำ หากน้ำท่วมขังนานต้นส้มโออาจตายได้
ส่วนสินค้า GI อื่นๆ ที่ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในจังหวัดภาคใต้แล้ว ได้แก่ ปัตตานี (ส้มโอปูโกยะรัง) นราธิวาส (ปลากุเลาเค็มตากใบ ลองกองตันหยงมัส) ชุมพร (กาแฟเขาทะลุชุมพร ข้าวเหลืองปะทิวชุมพร) ตรัง (หมูย่างเมืองตรัง) ยะลา (กล้วยหินบันนังสตา) และประจวบคีรีขันธ์ (ทุเรียนป่าละอู) และที่อยู่ระหว่างขอขึ้นทะเบียน คือ สงขลา (ส้มโอหอมควนลัง) และพังงา (ทุเรียนสาลิกา ข้าวไร่ดอกข้าวพังงา) จากการสำรวจในเบื้องต้นไม่พบว่าสินค้าได้รับความเสียหายจากอุทกภัยครั้งนี้
นายทศพลกล่าวว่า กรมฯ ยังได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ไม่สามารถดำเนินการยื่นคำร้อง คำขอต่ออายุ ชำระค่าธรรมเนียม หรือดำเนินการอื่นใดภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพราะประสบปัญหาอุทกภัย จึงได้ออกประกาศกรมฯ ให้ผู้ประกอบการสามารถขอขยายระยะเวลาในการดำเนินการดังกล่าว โดยสามารถยื่นคำขอขยายระยะเวลาซึ่งต้องแสดงเหตุผลความจำเป็น และหลักฐานที่แสดงว่าได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมต่อเจ้าหน้าที่กรมฯ หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ภายใน 15 วันนับแต่สถานการณ์อุทกภัยได้สิ้นสุดลง
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจาก 12 จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง กระบี่ และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์