xs
xsm
sm
md
lg

เดินแผนปฏิรูปรถเมล์ เพิ่มเป็น 269 เส้นทาง โอนสัญญาขึ้นตรง กรมขนส่งคุมเกณฑ์มาตรฐาน ขสมก.-รถร่วมฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ครม.รับทราบแผนปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ คมนาคมเดินหน้าถ่ายโอนสัญญารถร่วมฯ จาก ขสมก.ไปกรมขนส่งฯ ทำหน้าที่กำกับดูแลและออกใบอนุญาต โดยเพิ่มเส้นทางรถเมล์จาก 202 เส้นทางเป็น 269 เส้นทาง และเพิ่มระยะทางจากเดิม 6,437 กม.เป็น 7,833 กม.เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการมากขึ้น ขณะที่ ขบ.เตรียมตั้งกองบริหารรถโดยสารประจำทาง พิจารณาจัดสรรเส้นทางให้รถร่วมฯ และตั้งเกณฑ์ คุมกฎจัดระเบียบมาตรฐานรถ ผู้ประกอบการ, คนขับ ยกระดับบริการ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 ม.ค. ได้รับทราบแผนปฏิรูปเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งก่อนหน้านี้ ครม.ได้เห็นชอบให้ทบทวนมติ ครม.เมื่อปี 2526 ให้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นผู้ประกอบการเดินรถเพียงรายเดียว และรถร่วมฯ เอกชน ต้องทำสัญญาเข้าร่วมเดินรถกับ ขสมก.มาเป็นให้ ขสมก.เป็นผู้ประกอบการเดินรถรายหนึ่ง และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นผู้กำกับดูแล โดยได้ศึกษาการจัดเส้นทางเสร็จแล้ว ต่อไปจะเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ ซึ่งการโอนสัมปทานรถร่วมฯ ขสมก.มา ขบ.นั้น ขบ.จะต้องตั้งกองบริหารรถโดยสารประจำทางขึ้นเพื่อพิจารณาการจัดสรรเส้นทางกำหนดมาตรฐานรถก่อนออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการและกำกับดูแลผู้ประกอบการ, เกณฑ์คนขับรถโดยสารสาธารณะ ในระหว่างที่ยังพิจารณาจัดสรรเส้นทาง และมาตรฐานต่างๆ สัญญารถร่วมเอกชนที่หมดอายุ จะถ่ายโอนมาขึ้นตรงกับ ขบ. โดยคณะกรรมการขนส่งทางบกกลางจะกำหนดหลักเกณฑ์ใบอนุญาตชั่วคราวไปก่อน

“วันนี้รายงาน ครม.ว่าได้ศึกษาเสร็จแล้ว ส่วนการดำเนินการจะต้องมีระยะเวลาในการปรับตัว ซึ่งต้องโอนสัมปทานเดินรถ จาก ขสมก.ไปอยู่ที่ ขบ. และจัดสรรเส้นทางต่อไปซึ่งจะมีผู้ประกอบการบางรายได้เส้นทางเดิม บางรายอาจต้องเปลี่ยนเส้นทาง หรือถูกลดเส้นทางลงบ้าง ซึ่งตั้งแต่ปี 2561 น่าจะเริ่มเปลี่ยนถ่ายสัญญาและจัดสรรเส้นทางได้” นายอาคมกล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังได้ถอนร่างการขนส่งทางบกและร่างกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 เนื่องจากจะมีการแก้ไขเรื่องของอายุใบอนุญาตการประกอบการขนส่งประจำทาง, การแก้ไขอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบการขนส่งและการระงับการใช้รถและใบอนุญาตการขนส่ง ซึ่งขณะนี้ กระทรวงคมนาคมได้เสนอแก้ไข พ.ร.บ.ขนส่ง และ พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 รวมเป็นฉบับเดียวกัน ซึ่งกฤษฎีกาได้ตรวจร่างเสร็จแล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องเสนอแก้ไขเฉพาะประเด็น ซึ่งเมื่อรวม พ.ร.บ.2 ฉบับแล้ว อำนาจในการแก้ไขอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบการขนส่งและการระงับการใช้รถและใบอนุญาตการขนส่งจะอยู่ที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.)

นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามการศึกษาแผนปฏิรูปมียุทธศาสตร์ 5 ข้อ ได้แก่ 1. การปรับเปลี่ยนระบบการจัดสรรเส้นทางการเดินรถ 2. การจัดตั้งองค์กรเพื่อกำกับดูแลการบริหารจัดการการเดินรถโดยสารประจำทาง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 3. การเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ 4. การพัฒนาการกำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพ 5. การจัดการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งแผนงานจะเริ่มดำเนินการตั้งเดือน ก.ย. 2559 และเข้าระบบใหม่เต็มรูปแบบ ในปี 2562

ทั้งนี้ เนื้อหาหลักของการปฏิรูปจะเป็นการแยกผู้กำกับดูแล (Regulator) กับผู้ปฏิบัติ (Operator) ออกจากกัน ทำให้ ขสมก.เป็นผู้เดินรถอย่างเดียว ซึ่งจะมีผู้ประกอบการรายอื่นเพิ่มเข้ามา เพื่อให้เกิดการกำกับดูแลที่ดี เพิ่มการแข่งขัน ประชาชนจะได้รับประโยชน์ ในส่วนของการปฏิรูปเส้นทางเดินรถ เพื่อให้เส้นทางครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น โดยการศึกษาจะมีการเพิ่มเส้นทางเดินรถเมล์จากปัจจุบัน 202 เส้นทางเป็น 269 เส้นทาง โดยจะเพิ่มระยะทางจากเดิม 6,437 กม. เป็น 7,833 กม. หรือมีระยะทางเพิ่มขึ้นประมาณ 20% ขณะที่แต่ละเส้นทางเดิมจะมีการตัดลดระยะทางลงเฉลี่ย 3 กม.เพื่อให้เหมาะสม และมีประสิทธิภาพในการบริการมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเดิม ที่บางรายอาจจะต้องปรับไปให้บริการเส้นทางใหม่ หรือรายที่ไม่มีศักยภาพ อาจจะต้องออกจากระบบไป
กำลังโหลดความคิดเห็น