“หอการค้าไทย” ประเมินน้ำท่วมใต้ หากยุติภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ เสียหายไม่เกิน 1.5 หมื่นล้านบาท แต่หากลากยาว 1-2 เดือน เสียหายเพิ่มเป็น 1.2 แสนล้าน เหตุยางพารา-ปาล์มตายเกลี้ยง ปศุสัตว์กระทบ ท่องเที่ยววูบ แนะใช้ 5 ข้อวางแผนฟื้นฟูในระยะยาว
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าภาคใต้ได้ประเมินผลกระทบของผู้ประกอบการจากน้ำท่วมภาคใต้ 12 จังหวัดแล้ว โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ หากน้ำท่วมยุติได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ และสามารถฟื้นฟูสถานการณ์ได้เร็วภายใน 1-2 สัปดาห์ คาดว่าจะมีความเสียหายเพียง 10,000-15,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่มีมูลค่าราว 14.5 ล้านล้านบาท หรือ 1.25% ของจีดีพีภาคใต้ ที่มีมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท แต่หากน้ำท่วมยืดเยื้อนาน 2-3 เดือนจะเกิดความเสียหายสูงถึง 85,000-120,000 ล้านบาท หรือ 0.5-0.7% ของจีดีพี
โดยความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในภาคเกษตรเกิดกับ 2 พืชเกษตรสำคัญ คือ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน เพราะหากน้ำท่วมเกิน 20 วัน ยางพาราจะตาย ต้องใช้เวลาปลูกใหม่ 8-10 ปี กว่าที่จะได้ผลผลิต แต่ถ้าท่วมเกิน 1 เดือน ปาล์มจะตาย ต้องใช้เวลาปลูกใหม่นานถึง 3-5 ปี ระหว่างนี้จะไม่มีผลผลิต เกษตรกรไม่มีรายได้ ส่วนโคกระบือเสียชีวิตทั้งจากน้ำท่วมและไม่มีหญ้ากิน ขณะที่ภาคท่องเที่ยวแม้ว่าโรงแรมและที่พักทางฝั่งอ่าวไทยจะได้รับผลกระทบจากการที่นักท่องเที่ยวยกเลิกจองห้องพักไป 10-20% แต่ส่วนใหญ่ได้ปรับแผนไปเที่ยวฝั่งอันดามันแทนเพราะไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ทำให้คาดว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้สถานการณ์การท่องเที่ยวจะกลับสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้ หอการค้าไทยได้ทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ปัญหาภายหลังน้ำลด โดยเสนอให้เร่งฟื้นฟูความเสียหายให้เร็วที่สุด พร้อมทั้งใช้บทเรียนจากวิกฤตที่เกิดขึ้นมาบริหารจัดการเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว โดยเสนอให้มีบูรณาการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง ควบคู่กับการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง
โดยข้อเสนอ 5 ข้อ ได้แก่ บังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อไม่ให้มีการก่อสร้างกั้นทางน้ำ, จัดทำผังน้ำในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง หรือพื้นที่ที่เป็นทางน้ำไหลผ่าน โดยขอความร่วมมือจากประชาชนเพื่อขอกันพื้นที่สำหรับใช้ทำพื้นที่รับน้ำท่วม (ฟลัดเวย์), การเร่งฟื้นฟูแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมทั้งการฟื้นฟูสิ่งปลูกสร้าง โดยหอการค้าไทยจะประสานไปยังผู้ประกอบการวัสดุก่อสร้างให้เข้าไปช่วยเหลือ หรือจัดหาสินค้าในราคาพิเศษให้, การปรับปรุงโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และ การจัดแคมเปญด้านการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยหลังสถานการณ์คลี่คลาย