xs
xsm
sm
md
lg

แอร์พอร์ตลิงก์แจงตรวจสอบการซ่อมบำรุงเข้มงวดเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ชี้แจงถึงความเข้มงวดในการกวดขันการซ่อมบำรุงของบริษัทฯ เพื่อความปลอดภัยในการใช้บริการของผู้โดยสาร ภายหลังจากที่ “สามารถ ราชพลสิทธิ์” อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวพาดพิงถึงระบบการซ่อมบำรุงของบริษัทฯ จนอาจสร้างความเข้าใจผิด ระบุซ่อมบำรุงชุดอุปกรณ์เครื่องยึดเหนี่ยวรางในจุดที่ต้องดำเนินการแก้ไขทันที 50 จุดได้ดำเนินการแก้ไขแล้ว

บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เปิดเผยว่า จากที่นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวพาดพิง และระบุถึงระบบการซ่อมบำรุงของบริษัทฯ ว่ามีปัญหาในการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ บริเวณโค้งลาดกระบังมีการชะลอความเร็วจาก 45 กิโลเมตร (กม.) ต่อชั่วโมง (ชม.) เป็น 30 และ 15 กม.ต่อ ชม.ตามลำดับ ซึ่งมีการให้ข้อมูลภายในว่าแผ่นเหล็กประกบราง (หรือเหล็กรองรับราง) เคลื่อนตัวเนื่องจากนอตยึดแผ่นเหล็กหลุดเพราะตัวพุกที่ใช้ยึดไม่ยึดติดกับคอนกรีต จึงจำเป็นต้องลดความเร็วลง หากไม่ลดความเร็วอาจทำให้รถไฟฟ้าตกรางได้

และตามรายงานของฝ่ายซ่อมบำรุงรักษาระบุว่าจะต้องซ่อมบำรุงแผ่นเหล็กประกบรางถึง 159 จุด แบ่งเป็นจุดวิกฤต 59 จุด ไม่วิกฤต 100 จุด โดยนายสามารถระบุว่าบริษัทฯ ไม่มีการซ่อมบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอจนทำให้เกิดปัญหาขึ้น รวมทั้งนายสามารถยังระบุพาดพิงด้วยว่าสาเหตุที่เกิดปัญหาขึ้นเป็นเพราะผู้บริหารบางคนต้องการว่าจ้างเอกชนรายหนึ่งให้มาทำการซ่อมบำรุงรักษาโดยไม่มีการประมูล หรือไม่มีการแข่งขัน เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายนั้น และมีการระบุว่าเอกชนรายนั้นไม่มีประสบการณ์การซ่อมบำรุงรักษางานดังกล่าว เมื่อได้รับงานแล้วก็ไปว่าจ้างต่ออีกด้วย ตามปรากฏเป็นข่าวในสื่อออนไลน์นั้น

บริษัทฯ ขอชี้แจงว่าข้อมูลดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อน และขอชี้แจงรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. โดยปกติแล้วบริษัทจะมีการซ่อมบำรุงรักษา หรือที่เรียกว่าซ่อมบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) อย่างสม่ำเสมอ จะมีการตรวจสอบ และประเมินด้วยสายตา (Visual Inspection) ทุก 4 เดือน และทำการตรวจสอบซ่อมบำรุงตาม (Overall Project Management) OPM – 0070 หรือคู่มือซ่อมบำรุงของผู้วางระบบฯ ที่ระบุว่าชุดอุปกรณ์ยึดเหนี่ยวรางจะต้องมีการเปลี่ยนทุก 10 ปี ซึ่งบริษัทฯ ได้ติดตั้งชุดอุปกรณ์ยึดเหนี่ยวรางมาเป็นระยะเวลา 9 ปี ทั้งนี้ อุปกรณ์ยึดเหนี่ยวรางทั้งระบบรถไฟฟ้าระยะทาง 28 กิโลเมตร มีประมาณ 400,000 ตัว สำหรับบริเวณทางโค้งลาดกระบังระยะทาง 3 กิโลเมตร มีประมาณ 20,000 ตัว โดยเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารบริษัทฯ ได้ดำเนินการแก้ไขชุดอุปกรณ์ยึดเหนี่ยวรางบริเวณทางโค้งลาดกระบังไปแล้ว 160 จุด ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558-พฤษภาคม 2559 และบริษัทฯ ได้เสริมกำลังคนเพิ่มเติมในวิศวกรรมระบบรางตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 เพื่อเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบ และประเมินด้วยสายตา (Visual Inspection) จากเดิมทุก 4 เดือนเป็นทุก 1 เดือน

2. บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสาร และจากการเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบทุกๆ 1 เดือน ทำให้ตรวจพบในเดือนกันยายน 2559 ว่าจะต้องมีการซ่อมบำรุงแก้ไขจำนวน 159 จุด ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในแผนการซ่อมบำรุงรักษาตามวาระแล้ว ต่อมาเดือนธันวาคมได้ทำการตรวจสอบ และประเมินด้วยสายตา (Visual Inspection) พบว่ามีจุดที่ต้องดำเนินการซ่อมบำรุงแก้ไขทันที 50 จุด ตามเอกสารประเมินความเสี่ยง (Risk Assetment) โดยส่วนความปลอดภัยและคุณภาพของบริษัทฯ ซึ่งทำให้บริษัทฯ ต้องดำเนินการแก้ไขทันทีเพื่อความปลอดภัยในการให้บริการเดินรถไฟฟ้า

3. สำหรับบริษัทเอกชนที่เข้ามาดำเนินการซ่อมบำรุงชุดอุปกรณ์ยึดเหนี่ยวรางนั้น เป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ในการซ่อมบำรุงรางให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมถึงเป็นผู้ชนะการสอบราคาของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ในโครงการจ้างตัดต่อรางบริเวณรอยเชื่อมบนทางประธาน และทำการตรวจสอบวิเคราะห์สภาพความทนทานต่อการใช้งาน และทดสอบความแข็งแรงรอยเชื่อมแบบ Thermit ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในงานซ่อมบำรุง และมูลค่างานในการจ้างซ่อมชุดอุปกรณ์เครื่องยึดเหนี่ยวราง มีมูลค่า 250,000 บาท

ทั้งนี้ ในการซ่อมบำรุงชุดอุปกรณ์เครื่องยึดเหนี่ยวรางในจุดที่ต้องดำเนินการแก้ไขทันที 50 จุดนั้นบริษัทฯ ได้ดำเนินการแก้ไขแล้ว โดยคณะประเมินความเสี่ยงได้ทำการประเมินความปลอดภัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับรูปภาพที่ได้ปรากฏในเฟซบุ๊กของนายสามารถ และสื่อออนไลน์นั้น เป็นรูปภาพของอุปกรณ์ที่อยู่ในพื้นที่โรงล้างรถไฟฟ้าภายในศูนย์ซ่อมบำรุง และอยู่ในแผนงานซ่อมบำรุงตามวาระแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น