เลื่อนประชุมร่วมรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 17ออกไปอีก 1-2 สัปดาห์ “อาคม” เผยไทยติดน้ำท่วมภาคใต้ ส่วนจีนมีปัญหาหมอกควัน ยอมรับต้องประเมินสถานการณ์ เป้าตอกเข็มตอนแรก 3.5 กม. มี.ค.นี้อีกที เหตุยังต้องเร่งดำเนินการหลายเรื่อง พร้อมรายงาน ครม.คืบหน้าเตรียมเสนอขออนุมัติโครงการ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (10 ม.ค.) ได้รับทราบความคืบหน้าในความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 16 ที่กรุงเทพฯ ในการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา (ไฮสปีดเทรน) ระยะทาง 252.5 กม. มูลค่า 179,412.21 ล้านบาท ในส่วนที่ได้มีการประชุมคณะกรรมการร่วม ครั้งที่ 9-16 ซึ่งในการประชุมร่วมครั้งที่ 17 ได้เลื่อนกำหนดการประชุม จากวันที่ 16-18 มกราคม 2560 ออกไปก่อนประมาณ 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากทางไทยยังมีปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ส่วนทางจีนมีปัญหาเรื่องมลภาวะทางอากาศ อย่างไรก็ตาม เป้าหมายในเดือน มี.ค. 2560 ที่จะตอกเข็มตอนที่ 1 ระยะทาง 3.5 กม. (สถานีกลางดง-ปางอโศก) อาจจะต้องประเมินสถานการณ์อีกที
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินความร่วมมือไทย-จีนในโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.35 กม. ในการประชุมร่วม รวม 6 ประเด็น คือ 1. ได้มีการลงนาม MOC หรือบันทึกความร่วมมือไทย-จีน เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ว่าไทยจะก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ-หนองคาย เหมือนเดิมเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค 2. เตรียมนำเสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติโครงการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการทำข้อมูลเพิ่มเติมเสนอคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) 3. การจัดทำร่างสัญญาการเจรจา ร่างสัญญา Engineering Procurement and Construction (EPC-2 ) สัญญางานออกแบบ, สัญญาควบคุมงาน ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และกฎหมายไทย ซึ่งจะเร่งให้ได้ข้อสรุปในเดือน ม.ค.นี้
4. การจัดทำเอกสารประกวดราคา 5. การตั้งสำนักงานบริหารโครงการ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการเตรียมร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี 6. รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งแบ่งเป็นช่วง โดยช่วงกรุงเทพฯ-ชุมทางบ้านภาชี ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2559 อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม (สผ.) ช่วงชุมทางบ้านภาชี-นครราชสีมา คชก.ให้ปรับแก้ไขรายงาน EIA ประเด็นผลกระทบผู้ประกอบการสองข้างทาง โดยเฉพาะเหมืองแร่