สถาบันก่อสร้างฯ เผยแนวโน้มการลงทุนปี 2560 เติบโต 4-5% จากปี 2559 ที่คาดว่าจะมีมูลค่าในงานก่อสร้างรวมกว่า 1.22 ล้านล้านบาท จับตาลงทุนจากภาคเอกชนจะพลิกกลับมานำการลงทุนภาครัฐหรือไม่หลังลงทุนภาครัฐนำทัพมา 2-3 ปี เผยภารกิจปี 60 มุ่ง 4 ด้าน
นายจักรพร อุ่นจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปี 2560 คาดว่าการลงทุนในภาคก่อสร้างจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4-5% จากปี 2559 ที่คาดว่าจะมีการลงทุนในภาคก่อสร้างรวมกว่า 1.22 ล้านล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ย 7-8% จากปี 2558 ที่การลงทุนอยู่ที่ระดับ 1.166 ล้านล้านบาท โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาในปี 2560 คือการลงทุนของภาคเอกชนว่าจะกลับมาฟื้นตัวมากน้อยเพียงใดหลังจากในช่วง 2-3 ปีนี้การลงทุนหลักมาจากภาครัฐ
“3 ไตรมาสแรกปีนี้การลงทุนภาคก่อสร้างอยู่ที่ 9.13 แสนล้านบาท แบ่งเป็นลงทุนภาครัฐ 13.15% ภาคเอกชน 0.16% ทั้งปีก็คงอยู่ราว กว่า 1.2 ล้านล้านบาท หรือโตจากปี 2558 จำนวน 7-8% ซึ่งการเติบโตการลงทุนหลักยังคงมาจากการลงทุนภาครัฐนับตั้งแต่ปี 2557 โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้า ขณะที่การลงทุนเอกชนชะลอต่อเนื่องแต่ในปี 2560 มีหลายฝ่ายมองว่าการลงทุนรัฐเริ่มจะชะลอตัวดังนั้นความหวังการลงทุนปี 2560ภาคก่อสร้าง จะอยู่ที่เอกชนมากกว่าจึงต้องดูว่าเอกชนจะกลับมาฟื้นหรือไม่” นายจักรพรกล่าว
สำหรับการจ้างงานในภาคก่อสร้างปี 2559 คาดว่าจะอยู่เฉลี่ยที่ 2.5 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ประมาณ 2-3 แสนคน จากการเติบโตของการลงทุน โดยพบว่าแรงงานที่เพิ่มขึ้นนั้นส่วนใหญ่ยังคงต้องอาศัยแรงงานนำเข้าหรือแรงงานต่างด้าวเนื่องจากแรงงานไทยยังคงไม่นิยมที่จะเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ โดยขณะนี้ผู้ประกอบการเริ่มมีการปรับตัวที่จะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาดำเนินการเพื่อลดคนงานมากขึ้น เช่นการก่อสร้างคอนโดที่เน้นงานโครงสร้างสำเร็จรูปแล้วนำมาประกอบ
นายจักรพรกล่าวว่า ปี 2560 สถาบันฯ มีแผนดำเนินงานที่จะมุ่งเน้นใน 4 เรื่องได้แก่ 1. การจัดระเบียบธุรกิจก่อสร้างโดยการผลักดัน พ.ร.บ.เพื่อจัดตั้งเป็นสภาอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ขณะนี้ภาคเอกชนได้มีการยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้วส่วนจะอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมหรือกระทรวงมหาดไทยก็คงต้องรอนโยบายจากภาครัฐ 2. การยกมาตรฐานผู้รับเหมาะก่อสร้างให้เข้าสู่มาตรฐาน ISO 21500 เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยจะมีการของบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) คาดว่าจะสรุปได้ในเดือน ม.ค. 60 ในการดำเนินงานโดยมีเป้าหมายจะยกระดับผู้ประกอบการ 500 ราย
3. การจัดทำรายการและเครื่องหมายผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง แนะนำเพื่อผู้สูงอายุและคนพิการขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้สูงอายุและคนพิการเพิ่มเติมอีก 5 รายการจากเดิมได้มีการแนะนำไปแล้ว 7 รายการ (รวม 31 ชิ้น) โดยผลิตภัณฑ์ที่จะแนะนำเพิ่ม เช่น โถปัสสวะชาย ราวจับ มือจับประตู และกลอนประตู ทั้งนี้เนื่องจากไทยเริ่มมีผู้สูงอายุมากกว่า 10 ล้านคน และยังมีคนพิการมากกว่า 1.9 ล้านคน คาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า มูลค่าการลงทุนเพื่อการก่อสร้างเพื่อผู้สูงอายุจะมีการขยายตัวประมาณ 10 เท่าหรือเกือบ 1 แสนล้านบาท
4. คำแนะนำสำหรับการออกแบบสร้างบ้านสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการราคาประหยัด (บ้านราคาประหยัด) ถือเป็นนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ของสถาบันฯ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาสถาบันได้นำบ้านสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการไปโชว์ปรากฏว่ามีผู้สนใจขอแบบบ้าน (แปลน) เข้ามาจำนวนมากสถาบันฯ จึงนำมาปรับเพื่อที่จะส่งมอบให้ผู้ที่สนใจแบบไม่คิดเงินโดยคาดว่าภายใน ก.พ. 60 น่าจะเริ่มแจกฟรีให้กับผู้สนใจได้