xs
xsm
sm
md
lg

โรงไฟฟ้าถ่านหินชะลอดันใช้ก๊าซฯพุ่ง64%แผนกระจายเชื้อเพลิงวืดเป้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"สนพ."เผยแผนบริหารจัดการพลังงานหลายแผนโดยเฉพาะพีดีพี ก๊าซฯพลาดเป้าผลพวงจากโรงไฟฟ้าถ่านหินชะลอทำสัดส่วนการใช้ก๊าซฯพุ่ง 64% สูงกว่าเป้าหมาย เกาะติดแผนพีดีพีใกล้ชิดหากต้องทบทวนเตรียมแผนสำรองแล้ว 5 แนวทาง

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) และในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สนพ.ได้มีการประเมินนโยบาย แผน และมาตรการตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ในช่วงปี 2556-59 ซึ่งพบว่าแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย(PDP2015) ที่มีเป้าหมายกระจายเชื้อเพลิงและลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟลงไม่เป็นไปตามเป้าโดยในเดือนก.ค.59ใช้ก๊าซฯอยู่ที่ 64% ซึ่งสูงกว่าเป้าตั้งไว้ 59% เนื่องจากก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินช้ากว่าแผนที่กำหนด

ขณะเดียวกันโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ชะลอ และแนวทางการบริหารจัดการแหล่งก๊าซที่สัมปทานจะสิ้นสุดอายุในปี 2565-66 ดำเนินงานล่าช้ากว่าแผนส่งผลกระทบต่อแผนบริการจัดการก๊าซฯ(GAS PLAN) ทำให้มีการปรับแผนในส่วนนี้ไปแล้วโดยเฉพาะมติกพช.เมื่อ 8 ธ.ค.ที่ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) เพิ่มขึ้น นอกจากนี้แผนอนุรักษ์พลังงาน(EEP 2015 ) ปี 2559 มีเป้าหมาย 1,892 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบพบว่าผลประหยัด(ไม่รวมภาคขนส่ง)ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายโดยเดือนพ.ค.59 อยู่ที่ 636 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบจาก 833 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบเนื่องจากหลายโครงการอยู่ระหว่างดำเนินการประกอบกับน้ำมันขาลง

"จากการติดตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน เป็นไปตามเป้าหมายโดยเฉพาะจากมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Feed -in Tariff (FIT) นับเป็นความสำเร็จอย่างมาก ขณะที่แผนน้ำมันภาพรวมก็เป็นไปตามที่วางไว้ การสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานมีการปรับลดสำรองน้ำมันสำเร็จรูปจาก 6% เหลือ1% ถือว่าได้ดำเนินงานตามเป้าหมาย"นายทวารัฐกล่าว

นายทวารัฐกล่าวยอมรับว่า แผนพีดีพียังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดโดยยังไม่สามารถตอบหรือระบุได้ว่าจะต้องปรับแผนหรือไม่อย่างไร แต่หากที่สุดจะต้องปรับแผนให้สอดคล้องกับความเป็นจริงแล้วขณะนี้สนพ.กำลังเตรียมแผนรองรับ ไว้แล้วเพื่อไม่ให้กระทบต่อปริมาณสำรองไฟฟ้า ได้แก่ 1. การขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าเก่า 2.การจัดหากำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ซึ่งอาจจะให้การไฟฟ้าฝ่ายฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ดำเนินการเองแทนหรืออาจจะต้องเปิดให้เอกชนเข้ามาผลิตแทนทั้งรูปแบบโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก(SPP)และรายใหญ่(IPP) 3.การซื้อไฟจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากแผนพีดีพีปี 2579 กำหนดไว้ 20% สามารถเพิ่มได้ไม่เกิน 25% 4. เพิ่มปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และ5. จัดทำแผนอนุรักษ์พลังงานให้เข้มงวดขึ้น โดยเป้าหมายยังเน้นที่จะกระจายความเสี่ยงเชื้อเพลิงให้ได้เช่นเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น