“อาคม” เผยผลกระทบน้ำท่วม ถนน ทางรถไฟ สนามบินภาคใต้ มีความเสียหายไม่น้อยกว่า 538 ล้านบาท กำชับเร่งปรับปรุงให้สัญจรได้ ส่วนรถไฟเตรียมเปิดเดินรถได้ทุกเส้นทาง 8 ธ.ค.นี้ อธิบดีกรมทางหลวงชนบทเผยถนนใน 8 จังหวัดเสียหาย พร้อมเร่งช่วยเหลือประชาชน กำชับเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ที่มีผลกระทบต่อระบบคมนาคมขนส่งว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 2-7 ธ.ค. 59 มีถนน ทางรถไฟ พื้นที่สนามบิน การเดินรถโดยสาร บขส.รวม 5 หน่วยงานได้รับผลกระทบคิดเป็นมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นไม่น้อยกว่า 538 ล้านบาท โดยถนนของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้รับผลกระทบใน 8 จังหวัด จำนวน 61 สายทาง มีมูลค่าความเสียหาย 419 ล้านบาท ถนนของกรมทางหลวง (ทล.) ใน 6 จังหวัด ได้รับผลกระทบรวม 13 สายทาง มีมูลค่าความเสียหาย 118 ล้านบาท สนามบินภูมิภาคในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ใน 3 จังหวัด คือ สนามบินนครศรีธรรมราช, สนามบินสุราษฎร์ธานี, สนามบินชุมพร มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นแต่ไม่กระทบรันเวย์ และไม่กระทบต่อการให้บริการ
ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) งดเดินรถ 4 ขบวน เดินรถไม่ถึงปลายทาง 32 ขบวน มีมูลค่าความเสียหาย 5.17 ล้านบาท โดยน้ำเริ่มลดลงแล้วซึ่งจะสามารถเปิดเดินรถตามปกติทุกเส้นทางได้ในวันที่ 8 ธ.ค.นี้ และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) มีการปรับเส้นทางเดินรถใน 5 จังหวัด คือ พัทลุง, สุราษฎร์ธานี, ชุมพร, ตรัง, นครศรีธรรมราช โดยได้ให้ทุกหน่วยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ความช่วยเหลือในระยะแรก หน่วยงานของกระทรวงคมนาคมจะร่วมมือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) อำนวยความสะดวกให้สามารถสัญจรได้ โดยใช้รถบรรทุกของหน่วยงานคมนาคมช่วยรับส่งประชาชน แก้ปัญหาถนนบางช่วงที่ขวางทางน้ำ ให้กรมทางหลวง ถนนบางช่วงอาจจะขวางทางน้ำ ให้กรมทางหลวงพิจารณาปรับแก้
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวถึงสายทางของกรมทางหลวงชนบทที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยว่า ได้กำชับให้แขวงทางหลวงชนบทในพื้นที่ดูแลเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และรายงานข้อมูลสายทางที่ประสบอุทกภัยให้กับผู้บริหารจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ รวมทั้งให้ทุกหน่วยบริหารจัดการเส้นทาง โดยจัดหาเส้นทางเลี่ยงกรณีเส้นทางหลักไม่สามารถสัญจรผ่านได้ พร้อมทั้งบูรณาการกับหน่วยงานในพื้นที่ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนทันทีเมื่อได้รับการร้องขอ กรณีถนน/สะพานขาด ให้ดำเนินการซ่อมแซมเบื้องต้นเพื่อให้ใช้เส้นทางสัญจรไปมาได้ชั่วคราว เช่น วางสะพานแบรี่ ถมดินคอสะพาน ตลอดจนบูรณาการร่วมกับจังหวัดในการบริจาคสิ่งของจำเป็นให้กับประชาชน
ขณะนี้แขวงทางหลวงชนบทในพื้นที่ที่ประสบเหตุได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ความเสียหาย พร้อมทั้งติดตั้งป้ายเตือนในบริเวณที่มีน้ำท่วม เพื่อเตือนและแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทาง เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัจจุบันมีทางหลวงชนบทที่ได้ผลกระทบในพื้น 8 จังหวัด จำนวน 61 สายทาง (ข้อมูล ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2559) ดังนี้
1. จังหวัดชุมพร 7 สายทาง
2. จังหวัดนครศรีธรรมราช นครศรีธรรมราช 22 สายทาง
3. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 3 สายทาง
4. จังหวัดพัทลุง 16 สายทาง
5. จังหวัดสงขลา 4 สายทาง
6. จังหวัดสุราษฎร์ธานี 5 สายทาง
7. จังหวัดตรัง 3 สายทาง
8. จังหวัดกระบี่ 1 สายทาง
ทั้งนี้ มีสายทางที่ระดับน้ำท่วมสูงยังไม่สามารถสัญจรผ่านได้ 11 สายทาง ได้แก่ สาย ชพ.5015, นศ.3109, 4019, 4057, พท.5050, สข 4022, สฎ.3022, 2007, ตง.1018, 1037, 3002 โดยมีระดับน้ำเฉลี่ย 50-90 เซนติเมตร เบื้องต้นกรมได้ติดตั้งป้ายเตือนและป้ายแนะนำเส้นทางเลี่ยงบริเวณต้นทางให้ทราบสถานการณ์ ผ่านได้/ผ่านไม่ได้ รวมทั้งติดตั้งหลักนำทางสองข้างเพื่อเตือนให้ผู้ขับขี่ทราบขอบเขตช่องจราจร นอกจากนี้ กรณีระดับน้ำสูงรถเล็กสัญจรผ่านไม่ได้ กรมได้จัดรถบรรทุก 6 ล้อ สำหรับบริการประชาชนให้เข้าถึงที่พักอาศัยได้สะดวกยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม หลังจากเข้าสู่ภาวะปกติ หากเส้นทางชำรุดเสียหายกรมจะดำเนินการซ่อมแซมชั่วคราว เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรไปมาได้ภายใน 7 วัน และสำรวจออกแบบเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณฟื้นฟูฯ ให้เข้าสู่สภาพปกติ ซึ่งจะบูรณการร่วมกับหน่วยงานอื่นในการแก้ไขปัญหาอย่างถาวร ขอให้ประชาชนผู้ใช้เส้นทางโปรดระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนนเป็นพิเศษโดยเฉพาะพื้นที่ที่ประสบกับอุทกภัย และโปรดสังเกตป้ายจราจรเตือนระดับน้ำหรือป้ายหลีกเลี่ยงเส้นทาง ท่านผู้ใช้เส้นทางสามารถขอความช่วยเหลือหรือแจ้งเหตุอุทกภัยได้ที่ สายด่วนทางหลวงชนบท 1146