xs
xsm
sm
md
lg

กพร.จ่อดันลงทุนแร่ควอตซ์ผลิตเซลล์แสงอาทิตย์หวังเป็นฐานผลิตใหญ่สุดในอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กพร.” เผยกำลังจัดทำนโยบายการพัฒนาแหล่งแร่ควอตซ์ รองรับการผลิตซิลิกอนเกรดแสงอาทิตย์ เพื่อเป็นส่วนประกอบหลักการผลิตโซลาร์เซลล์ โดยมีนักลงทุนต่างประเทศสนใจมาก เผยไทยมีสำรองแร่ควอตซ์กว่า 25 ล้านตัน หากนำมาพัฒนาได้จะเป็นฐานการผลิตใหญ่สุดในอาเซียน


นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ในฐานะ รักษาราชการแทนอธิบดีเปิดเผยว่า ปัจจุบันมีนักลงทุนจากต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุนและพัฒนาแร่ควอตซ์ในประเทศไทย โดยกรมฯ อยู่ระหว่างการจัดทำนโยบายการพัฒนาแหล่งแร่ควอตซ์เพื่อรองรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและผลกระทบต่อประชาชน โดยพื้นที่ที่พบว่าเป็นแหล่งแร่ควอตซ์ในประเทศไทย ได้แก่ พื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีปริมาณ 9.97 แสนตัน, เพชรบุรี มีปริมาณ 9.7 หมื่นตัน, สระแก้ว มีปริมาณ 4 แสนตัน, ระยอง มีปริมาณ 7.56 ล้านตัน, จันทบุรี มีปริมาณ 2 หมื่นตัน และราชบุรี มีปริมาณ 16 ล้านตัน

ทั้งนี้ ไทยมีศักยภาพแร่ควอตซ์ที่จะสามารถสู่การพัฒนาเป็นซิลิกอนเกรดแสงอาทิตย์ (Solar Grade Silicon) เพื่อเป็นส่วนประกอบหลักของการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) โดยประเทศไทยมีปริมาณสำรองแร่ควอตซ์คุณภาพสูงกว่า 25 ล้านตัน สามารถผลิตซิลิกอนเกรดแสงอาทิตย์ได้ประมาณ 6 ล้านตัน ซึ่งสามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 1 ล้านเมกะวัตต์ หรือประมาณ 34 เท่าของความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดของประเทศไทยในปี 2559 และจะสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศไทยได้ไม่น้อยกว่า 3.6-4.5 ล้านล้านบาท ยังไม่รวมมูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Hi-technology) และมีมูลค่าสูงในประเทศ

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าหากมีอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ครบวงจรจากแร่ควอตซ์ในประเทศไทยจะส่งผลให้เกิดรายได้แก่ประเทศเป็นจำนวนมหาศาล รวมทั้งส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลดลง สามารถแข่งขันกับพลังงานทางเลือกอื่นๆ ได้และประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตซิลิกอนเกรดโลหกรรมซิลิกอนเกรดแสงอาทิตย์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

“ประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตซิลิกอนเกรดโลหกรรม ซิลิกอนเกรดแสงอาทิตย์ และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน สามารถรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นโลหะผสมอะลูมิเนียม อุตสาหกรรมเคมีที่ผลิตซิลิโคน และโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในภูมิภาคอาเซียนได้ซึ่งขณะนี้ไทยยังไม่มีอุตสาหกรรมผลิตซิลิกอนเกรดแสงอาทิตย์ มีเพียงการผลิตซิลิกอนเกรดโลหกรรม (Metallurgical Grade Silicon) ซึ่งถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมหล่อโลหะผสมอะลูมิเนียมสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมเคมีเพื่อผลิตซิลิโคนเท่านั้น” นายสมบูรณ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น