“พาณิชย์” ย้ำอีกครั้ง ขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 1 ม.ค.ปีหน้า ไม่กระทบต้นทุนสินค้า ใช้เป็นเหตุผลปรับขึ้นราคาไม่ได้ พร้อมแบ่งสินค้าออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อติดตามสถานการณ์ ป้องกันการฉวยโอกาส เผยมีทั้งกลุ่มที่ต้องขออนุญาต แจ้งต้นทุน และแจ้งราคาจำหน่าย ก่อนเปลี่ยนแปลงราคา
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้แบ่งสินค้าออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อติดตามดูแลความเคลื่อนไหวของสินค้า หลังจากที่ประชาชนมีความกังวลว่าการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 5-10 บาทต่อวัน ที่จะเริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2560 จะส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น เพราะจากผลการศึกษาของกรมฯ พบว่าการปรับค่าแรงงานขั้นต่ำ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า โดยมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยตั้งแต่ 0.0100-1.0202% จึงไม่ใช่เหตุผลที่ผู้ประกอบการจะใช้ในการปรับขึ้นราคาสินค้าได้
โดยสินค้าทั้ง 3 กลุ่ม แบ่งเป็น 1. กลุ่มสินค้าควบคุมที่ต้องขออนุญาตเปลี่ยนแปลงราคา ได้แก่ นมผง นมสด อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท อาหารกึ่งสำเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก เหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเคลือบโครเมียม ปุ๋ยเคมี ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืช
2. สินค้าควบคุมที่ต้องแจ้งต้นทุนให้ทราบก่อนเปลี่ยนแปลงราคา ได้แก่ นมข้นหวาน ผงซักฟอก กระดาษชำระ ปูนซีเมนต์ สายไฟฟ้า แบตเตอรี่รถยนต์ ยางรถยนต์ เป็นต้น
3. สินค้ากำกับดูแล 205 รายการ นอกเหนือจากสินค้าควบคุมที่มีมาตรการกำกับไว้ จะติดตามดูแลต้นทุนและราคาอย่างใกล้ชิด ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุน และขอความร่วมมือแจ้งราคาจำหน่ายก่อนเปลี่ยนราคา ได้แก่ ข้าวสารบรรจุถุง น้ำมันพืช น้ำปลา สบู่ ยาสีฟัน แชมพู สังกะสี ไม้อัด เป็นต้น
นางนันทวัลย์กล่าวว่า ในการจะขอปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่กรมฯ จะพิจารณา ไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ทันที โดยกรมฯ จะดูแลราคาสินค้าให้เป็นธรรม มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่แท้จริง ปริมาณสินค้ามีเพียงพอไม่ขาดแคลน มีปริมาณครบถ้วนถูกต้อง และไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าหรือกักตุนสินค้า
“จะเข้มงวดในการดูแลทั้งต้นทางและปลายทาง โดยใช้มาตรการทางกฎหมาย มาตรการบริหาร และมาตรการเสริม รวมทั้งมีการกำหนดสินค้าควบคุมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ซึ่งในปี 2559 ได้กำหนดสินค้าและบริการควบคุม 45 รายการ แบ่งเป็นสินค้า 42 รายการ บริการ 3 รายการ และสินค้าติดตามดูแล 205 รายการ ได้มีการติดตามดูแลต้นทุนและราคาอย่างใกล้ชิดให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุน” นางนันทวัลย์กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากผู้ผลิตสินค้ามีเหตุผลที่จำเป็นต้องปรับขึ้นราคา กรมฯ ก็พร้อมจะพิจารณาให้ โดยยึดหลักพิจารณาปรับขึ้นราคาจะต้องสมเหตุสมผล ราคาเป็นธรรม ไม่เป็นภาระต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคมากเกินควร และแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อบรรเทาภาระของผู้บริโภค แต่หากประชาชนพบว่ามีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างไม่สมเหตุสมผล สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 กรมฯ จะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบพฤติกรรมทันที เพื่อดำเนินการทางด้านกฎหมายต่อผู้ที่ฉวยโอกาสต่อไป