ปตท.จ้างศศินทร์ศึกษาปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยจะโอนบริษัทย่อยปิโตรเคมีที่ ปตท.ถือหุ้นอยู่ให้กับพีทีที โกลบอลฯ เพื่อให้ห่วงโซ่อุปทานยาวขึ้น คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปีหน้า แย้มการโอนธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกออกเป็นบริษัทเอกชนจะทำให้รัฐมีรายได้ภาษีจากการโอนถึง 3 หมื่นล้านบาท
นายสรัญ รังคสิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.ได้ว่าจ้างสถาบันศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาการปรับโครงสร้างธุรกิจปิโตรเคมีที่ ปตท.ถือหุ้นอยู่ 6-7 บริษัท โดยจะโอนหุ้นในบริษัทเหล่านี้ให้แก่บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) ในฐานะเป็นบริษัทแกนนำด้านปิโตรเคมีของ ปตท. คาดว่าจะโอนบริษัทย่อยดังกล่าวแล้วเสร็จในปี 2560
ขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรและเจ้าหนี้ของบริษัทย่อยดังกล่าวเพื่อให้เข้าใจเจตนารมณ์ที่ ปตท.จะโอนหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทเหล่านี้ให้กับ PTTGC เพื่อให้ตลอดห่วงโซ่อุปทานยาวขึ้น รวมทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจหลังจากราคาน้ำมันปรับตัวลง
การโอนกิจการบริษัทย่อยดังกล่าวนี้จะทำให้ ปตท.มีรายได้จากการโอนกิจการ รวมทั้งรัฐจะได้ภาษีจากการโอนกิจการด้วย เช่นเดียวกับการปรับโครงสร้างธุรกิจ น้ำมัน และค้าปลีกที่จะแยกออกเป็นบริษัทเอกชนที่ ปตท.จะถือหุ้นไม่เกิน 50% เพื่อไม่ให้เป็นรัฐวิสาหกิจ
ซึ่งการโอนธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกมาอยู่ใน บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (PTTOR) รัฐจะได้ภาษีจากการโอนหุ้นสูงถึง 3 หมื่นล้านบาท และคลังจะรับรู้รายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากมูลค่าธุรกิจจะสูงขึ้นหลังจากนำบริษัท PTTOR เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกของ ปตท.มี P/E 8-9 เท่า แต่กลุ่มค้าปลีกทั่วไปจะมี P/E สูงถึง 18-20 เท่า
ทั้งนี้ ปตท.จะต้องขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นเพื่อแยกธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกเป็นบริษัทในช่วง เม.ย. 60 หลังจากนั้นอีก 1-2 เดือนจะเป็นขั้นตอนการโอนธุรกิจ โดยบริษัทใหม่จะต้องมีผลการดำเนินงานอย่างน้อย 1 ไตรมาส คือช่วงไตรมาส 3/60 โดยกว่าจะแจ้งตลาดฯ ก็ใช้เวลาอีก 45 วัน ก่อนที่จะยื่นไฟลิ่งที่จะใช้เวลา 60 วัน ดังนั้นคาดว่าจะเทรดซื้อขายหุ้นดังกล่าวได้ในครึ่งแรกปี 2561