“ส.อ.ท.” พร้อมสานต่อแนวพระราชดำริ ลงทุนพอเพียงไม่เน้นกู้เงินมาลงทุน พร้อมหารือสมาชิกเร่งผลิตชุดแต่งกายรองรับความต้องการประชาชน มั่นใจอีก 7-10 วันจะเข้าสู่ภาวะปกติ พร้อมหนุนอุตสาหกรรมไทยก้าวสู่ยุค 4.0 ให้มากขึ้น
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถือเป็นมหาวิปโยคของคนไทย โดย ส.อ.ท.ได้ตั้งปณิธานที่จะนำคำสอนของพระองค์ท่านในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการมุ่งเน้นการลงทุนให้เหมาะสมไม่พึ่งพิงการกู้เงินเป็นหลักมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตเพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณ
ส่วนกรณีที่ประชาชนต้องประสบกับปัญหาการหาซื้อเสื้อสีดำไม่ได้ มีการขาดแคลนในหลายพื้นที่นั้น เชื่อว่าจะเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น โดยยืนยันว่าที่ผ่านมาวัตถุดิบผ้ามีปริมาณที่มากเพียงพอ แต่ติดที่กระบวนการผลิตอาจไม่ทันต่อความต้องการของประชาชนในขณะนี้ เชื่อว่าเหตุการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 7-10 วัน
“การที่มีบางกลุ่มไปฉวยโอกาสขึ้นราคาเสื้อผ้าสำเร็จรูปสีดำที่ประชาชนต้องใส่ไว้ทุกข์เห็นว่าไม่สมควรอย่างยิ่ง และได้หารือสมาชิกในกลุ่มให้เร่งการผลิตรองรับความต้องการของประชาชน นอกจากนี้ ส.อ.ท.เตือนประชาชนที่จะนำผ้าหรือเสื้อไปย้อมสี ควรระมัดระวังถึงความปลอดภัย เนื่องจากสีย้อมที่นำเข้ามีหลากหลายชนิด ไม่สามารถใช้กับผ้าได้ทุกประเภท เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าโพลีเอสเตอร์ ที่ใช้ต่างชนิดกัน และเมื่อย้อมสีไม่ติดเนื้อผ้าอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม” นายเจนกล่าว
ทั้งนี้ ในวันเดียวกัน ส.อ.ท.ได้ร่วมลงนามความร่วมมือด้านมาตรฐานสากลที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม 4.0 ร่วมกับบริษัท ทูฟ นอร์ด ประเทศไทย ซึ่งการลงนามครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการนำองค์ความรู้และประสบการณ์มาใช้วางแผนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เหมาะสมกับบริบททางธุรกิจ ซึ่ง ส.อ.ท.ตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ไทยจำนวนมากให้สามารถยกระดับเข้าสู่ยุตอุตสาหกรรม 4.0 ภายในปี 2025 เพื่อเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตของตลาดโลก โดยต้องเริ่มจากการพัฒนาบุคลากร 3 ด้าน ได้แก่ ผู้สร้างเครื่องจักร ผู้เชื่อมโยงระบบและกระบวรการผลิต และผู้ดูแลระบบเพื่อควบคุมการทำงานให้มีประสิทธิภาพ โดยจะยกระดับพัฒนานำเทคโนโลยี และนวัตกรรม พัฒนาสร้างความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการมากขึ้น
ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ 70% ยังอยู่ในยุคอุตสาหกรรม 2.0-2.5 คือ มีการใช้เครื่องจักร แต่ยังไม่ใช้หุ่นยนต์ในกระบวนการผลิต 20% อยู่ในยุคอุตสาหกรรม 3.0 มีการใช้หุ่นยนต์ในกระบวนการผลิตเล็กน้อย ขณะที่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 มีเพียง 1-2 แห่งเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่มีบริษัทแม่อยู่ในต่างประเทศ