xs
xsm
sm
md
lg

“กกพ.” เผยเทรนด์ใหม่ร้องเรียนสายไฟฟ้ารกรุงรังเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กกพ.” คุมเข้มแผนลงทุนนำสายส่งไฟฟ้ามุดลงดินเพื่อเร่งรัดให้เป็นไปตามแผนเร่งด่วน พร้อมประสานจัดระเบียบแก้ปัญหาสายสื่อสารอื่นๆ ที่มาพ่วงทั้งมีสัญญาและผิดกฏหมายเพื่อนำรื้อออก ขณะที่ คพข.หน่วยรับเรื่องร้องทุกข์ผู้ใช้ไฟฟ้าภายใต้กำกับพบเทรนด์ใหม่ร้องเรียนปัญหาสายไฟรกรุงรังมากขึ้น แต่การร้องเรียนไฟตกดับยังมาแรงอันดับแรก ชวนผู้ใช้ไฟมีปัญหาเรื่องไฟฟ้าร้อง คพช.13 เขตทั่วประเทศได้

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ในฐานะกำกับกิจการพลังงาน กกพ.ได้มีการติดตามงบลงทุนใกล้ชิดของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพื่อให้เป็นไปตามแผนการเร่งรัดลงทุนนำสายส่งไฟฟ้าอากาศเป็นแบบสายไฟฟ้าใต้ดินและสายส่งไฟฟ้านำร่องเพื่อจัดระเบียบภูมิทัศน์ ซึ่งทั้งสองหน่วยงานมีแผนลงทุนที่จะเร่งดำเนินงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว พร้อมกันนี้ยังได้มีการร่วมประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาการนำสายสื่อสารอื่นๆ มาเกาะพ่วงกับสายส่งซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาสายไฟรกรุงรัง

“กกพ.ทำได้ในแง่กำกับ คือดูในแง่ของงบลงทุนที่จะต้องเร่งรัดให้เป็นไปตามแผนของรัฐบาลที่ต้องการให้เร็วขึ้น ยอมรับว่าจากการหารือปัญหาสายไฟฟ้าตามเสาไฟที่รกรุงรังส่วนใหญ่เป็นปัญหาของการให้เช่าในการนำสายระบบการสื่อสารต่างๆ ที่ผ่านมาเช่น สายเคเบิล สายโทรศัพท์ ฯลฯ แต่พอระยะเวลาผ่านไปสายเหล่านี้ไม่ได้ใช้งานก็ไม่มีผู้รับผิดชอบมารื้อออกไป ขณะที่การไฟฟ้าฯ เองก็รื้อไม่ได้เพราะหากทำไปแล้วเป็นสายที่ยังใช้งานอยู่ก็อาจมีปัญหาต่อการบริการ และบ่อยครั้งก็พบว่ามีผู้ลักลอบมาพ่วงสายโดยไม่ถูกต้องก็มี เรื่องนี้จะได้หาแนวทางแก้ไขกันโดยได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ในขณะนี้” นายวีระพลกล่าว

นายประเทศ ศรีชมภู ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) กล่าวว่า ขณะนี้พบว่าประชาชนมีการร้องเรียนมายังคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต หรือ คพข. ซึ่งเป็นหน่วยงานย่อยของ กกพ.ที่จะเข้ามาดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้บริการไฟฟ้าเข้ามาต่อเนื่อง โดยปัญหาที่ร้องเรียนมามากสุดคือ ไฟฟ้าตกและไฟฟ้าดับ รองลงมาเป็นไม่มีไฟใช้ แต่ล่าสุดเทรนด์ใหม่ของการร้องเรียนเป็นเรื่องสายไฟรกรุงรังที่มีเข้ามาเพิ่มต่อเนื่องจากอดีตแทบไม่มีซึ่งถือเป็นสิ่งที่จะทำให้ กกพ.นำปัญหาเหล่านี้มาเร่งแก้ไข

“คพช.มี 13 เขตทั่วประเทศซึ่งประชาชนไม่ค่อยทราบนัก การร้องเรียนปัญหาต่างๆ นั้นอาจร้องเรียนตรงไปยังการไฟฟ้า แต่ คพข.จะเป็นหน่วยงานกลางในการร้องเรียนได้อีกช่องทางหนึ่งของประชาชน และจะประสานไกล่เกลี่ยให้โดยเร็ว และหากว่าไม่เห็นด้วยก็อุทธรณ์ไปยัง กกพ.ได้อีก อย่างกรณีที่ไม่มีไฟฟ้าใช้นั้นยอมรับว่าปัญหานี้มีอยู่ การแก้ไขก็อาจจะไม่ได้หากพบว่าพื้นที่ชนบทที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ป่าไม้การเดินสายส่งจะมีข้อจำกัด” นายประเทศกล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต (คพข.) จะมีการสรรหาตัวแทนของผู้ใช้พลังงานจากทุกภาคส่วนเพื่อปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับ กกพ.ในการดำเนินงานด้านการคุ้มครองสิทธิของประชาชนผู้ใช้พลังงานในประเด็นต่างๆ ร่วมกัน โดย คพข. 13 เขตประกอบด้วย เขต 1 เชียงใหม่ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน โทร. 0-5320-3433-4 เขต 2 พิษณุโลก ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก และพิจิตร โทร. 0-5525-2924 เขต 3 นครสวรรค์ ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี และลพบุรี โทร. 0-5622-1991-2

เขต 4 ขอนแก่น ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย และขอนแก่น โทร. 0-4322-8338-9 เขต 5 อุบลราชธานี ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ มุกดาหาร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ โทร. 0-4531-2280-1 เขต 6 นครราชสีมา ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ โทรศัพท์ 0-4425-7888-9

เขต 7 สระบุรี ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปทุมธานี นครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว โทร. 0-3622-3048-9 เขต 8 ชลบุรี ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด โทร. 0-3811-3487-9 โทรสาร 0-3811-3486 เขต 9 กาญจนบุรี ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร โทร. 0-3451-7505-7 เขต 10 ราชบุรี ครอบคลุมพื้นที่ 6 ได้แก่ ราชบุรี สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง โทร. 0-3232-8503-5
กำลังโหลดความคิดเห็น