xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.นิพนธ์” นายกทีวีดาวเทียม เร่งแก้ปัญหากฎหมายที่มีช่องโหว่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360 - “ดร.นิพนธ์” รั้งตำแหน่งนายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) อีกครั้ง ชี้ต้องนำพาสมาชิก 50 ช่องก้าวผ่านกระแสการแข่งขันไปให้ได้ ด้วยการเดินหน้าแก้ไขปัญหาการร่างกฎหมายที่ยังมีจุดโหว่ไม่เป็นธรรมจากการออกกฎหมายโดยคนที่ไม่อยู่ในวงการโทรทัศน์มาก่อน พร้อมสร้างความแกร่งจับมือกันสู้เกมทีวีไทย

ภายหลังจากที่ ดร.นิพนธ์ นาคสมภพ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) หรือ STAT อีกสมัย ในปี 2559-2561 มีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา จากเดิมก่อนหน้านี้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมฯ มาตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ซึ่งในการคัดเลือกนายกสมาคมในครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่ไม่มีคู่แข่งทำให้ได้รับการแต่งตั้งโดยไม่มีเสียงคัดค้านแต่อย่างใด

ดร.นิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) หรือ STAT เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสมาชิกในสมาคมฯ มีกว่า 100 ช่อง แต่หลังการเกิดของ กสทช. และ พ.ร.บ.ตัวบทกฎหมายที่ออกกำกับดูแล ส่งผลให้เหลือสมาชิกเพียง 50 ช่องในปัจจุบัน จากปัจจัย 3 ข้อ คือ 1. ปิดตัวลงเพราะทุนดำเนินการไม่เพียงพอ 2. กสทช.สั่งปิดธุรกิจหลังทำผิดกฎหมาย ลงโฆษณาเกินจริง ทำให้ถูกปรับรายวันและอยู่ต่อไม่ไหว และ 3. ช่องดาวเทียมย้ายมาเป็นช่องภาคพื้นดิน หรือช่องทีวีดิจิตอล อย่างเช่น ช่อง 8 เป็นต้น

ทั้งนี้ มองว่าทั้ง 50 ช่องที่เหลืออยู่นี้ยังพอมีศักยภาพที่จะคงอยู่ในธุรกิจนี้ไปด้วยกันภายใต้อุปสรรคและการแข่งขันที่เกิดขึ้น ซึ่งในฐานะนายกสมาคมฯมองว่าจะต้องสร้างความแข็งแกร่งและความร่วมมือในเรื่องต่างๆ เพื่อก้าวไปด้วยกันจึงจะอยู่รอด โดยความร่วมมือประกอบด้วย 1. มีการร่วมมือกันในกลุ่มช่องข่าวประมาณ 6-7 ช่อง เช่น ช่อง NEWS1, T-NEWS แพกเป็นกลุ่มเดียวกัน หากแพลตฟอร์มใดจะนำช่องข่าวไปลงในแพลตฟอร์ม เป็นต้น 2. ในเรื่องของเทคโนโลยีร่วมกันในเรื่องการออกอากาศ เป็นต้น

นายกสมาคมฯ กล่าวต่อว่า สำหรับนโยบายเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการเป็นอันดับต้นๆ เป็นเรื่องของกฎหมายร่าง พ.ร.บ.วิทยุโทรทัศน์ปี 2551 และ 2553 ที่มีจุดบกพร่องค่อนข้างมาก ส่งผลให้กรรมการที่เข้ามากำกับดูแลทำงานบกพร่องตามไปด้วย ซึ่งเกิดจากผู้ออกตัวบทกฎหมายเป็นคนนอกจึงมีความเข้าใจที่ไม่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจวิทยุโทรทัศน์ กรณีตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญปี 2551 กำหนดให้วิทยุโทรทัศน์เปิดให้มีการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม แต่ พ.ร.บ.กลับมากำหนดและจำกัดการลงโฆษณาของช่องโทรทัศน์แต่ละประเภทแตกต่างกัน เช่น ฟรีทีวีต้องโฆษณาไม่เกิน 12.5 นาที แต่ดาวเทียมให้โฆษณาไม่เกิน 6 นาที ซึ่งเห็นชัดเจนว่าไม่เป็นธรรม เป็นต้น

ผลจากการกีดกันที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดรายการที่มุ่งแต่กล่าวถึงการโฆษณามากกว่าเนื้อหารายการ รวมถึงก่อให้เกิดช่องโฮมชอปปิ้งต่างๆ ตามมา เป็นต้น ขณะที่ทั่วโลกส่วนใหญ่ยกเลิกเรื่องกำหนดเวลาโฆษณาไปแล้ว ส่วนในเซาท์อีสต์เอเชีย ประเทศเวียดนามยังคงกำหนดเวลาโฆษณาได้ไม่เกิน 3 นาที/ชม., สิงคโปร์ไม่เกิน 15 นาที/ชม. และฟิลิปปินส์ไม่มีกำหนดโฆษณาแล้ว



กำลังโหลดความคิดเห็น