“บีโอไอ” เผยนักธุรกิจไทยหลายรายสอบถามถึงเรื่องยกเลิกข้อสงวนเรื่องนักลงทุนนอกอาเซียน ยืนยันไม่มีผลกระทบธุรกิจไทย เพราะไม่มีการเปิดเสรีด้านการลงทุนใดๆ เพิ่มเติมทั้งสิ้น ทั้งรายการ-ข้อสงวนของไทย โดยเฉพาะกิจการด้านการเกษตรยังไม่เปิดเสรีให้ชาติใดเข้ามาทำ ข้อสงวนที่ยกเลิกเป็นเพียงการให้นักลงทุนต่างชาติที่มิใช่ชาติอาเซียนได้รับสิทธิเท่ากับนักลงทุนจากอาเซียน
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยว่า ตามที่มีนักธุรกิจและนักลงทุนไทยหลายรายสอบถามถึงความชัดเจนของเรื่องความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน หรือ ACIA (ASEAN Comprehensive Investment Agreement) ในประเด็นการยกเลิกข้อสงวนในความตกลงกับผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทย บีโอไอขอยืนยันว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) มีมติเห็นชอบให้ขยายการให้สิทธิให้นักลงทุนต่างชาตินอกอาเซียนที่จะเข้ามาลงทุนในไทยเท่านั้น มิได้มีการพิจารณาเปิดเสรีในสาขาอื่นๆ เพิ่มเติมแต่อย่างใด โดยข้อสงวนเรื่องธุรกิจ 5 สาขายังเป็นไปตามข้อสงวนเดิมที่ได้ตกลงไว้ และจะไม่ส่งผลกระทบต่อนักธุรกิจและนักลงทุนไทย
“ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2555 ที่ความตกลง ACIA มีผลบังคับใช้ ประเทศไทยเป็นเพียงชาติเดียวในอาเซียนที่ขอสงวนการเปิดเสรีให้เฉพาะนักลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียนเท่านั้น โดยไม่ให้สิทธิ์กับ นักลงทุนนอกอาเซียนที่ลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียนแล้วต้องการเข้ามาขยายการลงทุนในไทย ซึ่งอาจกลายอุปสรรคต่อการขยายการลงทุนมายังประเทศไทยของนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการใช้สิทธิภายใต้กรอบ ACIA จึงได้มีการพิจารณาและยกเลิกข้อสงวนนี้เพียงข้อเดียวซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดึงดูดการลงทุน และทำให้นักลงทุนต่างชาติเห็นว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมีความเชื่อมั่นในการขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน” เลขาธิการบีโอไอกล่าว
สำหรับข้อสงวนของไทยภายใต้ความตกลงด้านการลงทุนอาเซียนยังคงเป็นไปตามเดิม ไม่มีการยกเลิก โดยได้มีการกำหนดข้อสงวนรวม 25 รายการ จำนวนกว่า 40 รายการย่อยที่ไทยกำหนดให้ลงทุนได้เฉพาะคนไทย ส่วนใหญ่เป็นกิจการในบัญชี 1-2 แนบท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ห้ามมิให้ต่างชาติดำเนินการ อาทิ การทำนา ทำไร่ ทำสวน การเลี้ยงสัตว์ การประมง การสกัดสมุนไพรไทย การทำนาเกลือ การทำป่าไม้และการแปรรูปไม้จากป่าธรรมชาติ การเลี้ยงไหม การผลิตเส้นไหมไทย การทอผ้าไหมไทย การสีข้าว การผลิตน้ำตาลจากอ้อย เป็นต้น
ทั้งนี้ ความตกลงด้านการลงทุนอาเซียนไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ การขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอยังเป็นไปตามเงื่อนไขที่บีโอไอกำหนด