xs
xsm
sm
md
lg

อีเวนต์วูบหนัก “อินเด็กซ์” ปรับทิศ ผนึกพันธมิตรลุยงาน EDM ชิงพันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360 - ลุ้นตลาดอีเวนต์ติดลบ 5% ในสิ้นปี หลังสัญญาณบวกชัดเจนขึ้น “อินเด็กซ์” ดูดลูกค้าภาครัฐรักษารายได้ มั่นใจสิ้นปีรายได้ 1.7 พันล้านบาท เติบโต 6-7% ตามเป้า พร้อมลดเสี่ยง ผุด “ATME” โปรเจกต์พิเศษ ทะลวงตลาด EDM ประเดิมงานแรก “Another World” สยายแผนลุยต่ออาเซียนทันที หวังรั้งบัลลังก์ EDM ในเอเชียภายใน 1 ปี

นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจอีเวนต์ทุกประเภทมีอัตราการเติบโตลดลงตามสภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มอีเวนต์มาร์เกตติ้งลดลงมากที่สุด หลังลูกค้าส่วนใหญ่ในปีนี้หั่นงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ลงไปกว่า 20% งานอีเวนต์จึงหายไปด้วย ส่งผลให้ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา อีเวนต์ตกลงไปกว่า 10% ตามที่คาดการณ์กันไว้ตั้งแต่ปลายปีก่อน แต่ในช่วง 4 เดือนหลังจากนี้เชื่อว่าจะดีขึ้น เห็นได้จากสัญญาณบวกต่างๆ ทั้งในเรื่องของรัฐบาลที่เริ่มเสถียร รวมถึงนโยบายภาครัฐที่ออกมาขับเคลื่อนจะช่วยให้อีเวนต์กลับมาดีขึ้นได้ หรือทั้งปีน่าจะได้เห็นอีเวนต์ติดลบเพียง 5%

ในส่วนของ “อินเด็กซ์” พบว่ารายได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ธุรกิจทั้ง 4 กลุ่มยังเติบโตอยู่ หรือทั้งปีเชื่อมั่นว่าจะยังคงรักษาเป้า 1.7 พันล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 6-7% แบ่งรายได้ออกเป็น 1.ครีเอทีฟโซลูชัน 51% 2.มาร์เกตติ้งเซอร์วิส 34% 3 ไลฟ์สไตล์ 8% และ 4.อาเซียน 7% โดยการเติบโตหลักยังมาจากครีเอทีฟโซลูชัน ซึ่งในช่วง 4 เดือนหลังนี้น่าจะได้ยอดลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มภาครัฐที่ต้องการโปรโมตงานต่างๆ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว เป็นต้น ส่วนธุรกิจอาเซียนนั้นปีก่อนอยู่ที่ 5% ปีนี้เติบโตดีขึ้นเป็น 7% ส่วนในปีหน้าเชื่อว่าจะมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด หรือไม่ต่ำกว่า 10% จากการขยายงานเพิ่ม

ล่าสุด “อินเด็กซ์” ได้ร่วมมือกับ นายวุฒิพันธุ์ ด่านทวีศิลป และนายคำรณ ปราโมช ณ อยุธยา ในรูปแบบโปรเจกต์เบส ในชื่อ “ATME” (แอท มี) หรือ “แอ็บโซลูตลี ทรู มิวสิก เอ็กซ์พีเรียนส์” ด้วยการรุกในอุตสาหกรรมเพลงประเภท “อิเล็กทรอนิกส์ แดนซ์ มิวสิก” (Electronic Dance Music) หรือ EDM โดยแบ่งธุรกิจออกเป็น 2 ส่วนคือ 1.สร้างสรรค์งานขึ้นมาเอง เน้นสร้างประสบการณ์ใหม่ในโปรเจกต์ที่ชื่อ “อนาเธอร์ เวิลด์” (Another World) อีดีเอ็ม เฟสติวัล ในวันที่ 5 พ.ย.ศกนี้ ที่แดนเนรมิต 2.คอนเสิร์ตไลเซนส์ นำเข้างาน EDM ชื่อดังจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ ยังมีแผนจัดโรดโชว์ส่งออก EDM เฟสติวัลเหล่านี้ไปยังภูมิภาคอาเซียนด้วยซึ่งกำลังพูดคุยกันอยู่คือ เวียดนาม และพม่า คาดว่าเร็วสุดจะเห็นปลายปีนี้ ช้าสุดคือปีหน้า โมเดลดังกล่าวเชื่อว่าจะส่งผลให้ ATME ก้าวขึ้นเป็นผู้นำ EDM ในภูมิภาคนี้ได้ในปีหน้า

สำหรับการลงทุนธุรกิจ EDM ต่องานอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านบาท เป็นโมเดลงานระดับกลาง รับจำนวนผู้เข้าร่วมกันราว 1 หมื่นคนต่อวัน เป็นโมเดลที่เหมาะสมในการจัดโรดโชว์ไปยังประเทศต่างๆ ได้ง่าย โดยต่อปีมีแผนจัดงาน EDM 4 ครั้งต่อประเทศ แบ่งเป็น Anather World 1 ครั้ง ส่วนอีก 3 ครั้งเป็น EDM ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศซึ่งจะจัดไตรมาสละงาน ส่วนในอีก 2 ประเทศจะโรดโชว์ทั้ง 4 งานต่อปีเช่นเดียวกัน แต่ไทมิ่งไม่ตรงกัน รวมแล้วใน 3 ประเทศ จะมีการจัดงาน EDM รวมกัน 12 ครั้ง ใช้งบลงทุนประมาณ 240 ล้านบาท ส่วนรายได้ที่เข้ามาต่องานจะต้องไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาทขึ้นไป

ปัจจุบัน EDM ถือเป็นอุตสาหกรรมเพลงประเภท “อิเล็กทรอนิกส์ แดนซ์ มิวสิก” ที่กำลังมีแนวโน้มเติบโตทั่วโลก เป็นเทรนด์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในเซาท์อีสต์เอเชียในปีก่อนมีอัตราการเติบโต 600% มากสุดในโลกและเป็นที่จับตาของต่างประเทศ ทั้งนี้ พบว่าอุตสาหหกรรม EDM ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 248,800 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ซึ่งในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตกว่า 50% หากรวมกับช่องทางการเข้าถึงอื่นๆ เช่น ออนไลน์จะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 2 เท่า

ส่วนในเอเชียนั้น EDM มีมูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 15% ของตลาดโลก ซึ่งตลาดใหญ่สุดอยู่ที่อินเดีย รองลงมาคือสิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ตามลำดับ ส่วนจีน EDM เพิ่งได้รับความนิยมแต่มีโอกาสโตมากด้วยจำนวนประชากรของประเทศ

สำหรับตลาดไทย EDM รวมทั้งหมดมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท คาดเติบโต 200-300% ในปีนี้ จากการเป็นอีเวนต์ที่ลูกค้าพร้อมให้การสนับสนุนเป็นสปอนเซอร์ดีกว่าอีเวนต์ประเภทคอนเสิร์ต เนื่องจากสามารถสร้างประสบการณ์ร่วมกับผู้บริโภคได้โดยตรง มากกว่าคอนเสิร์ตที่ได้เพียงแบรนดิ้งจากป้ายโลโก้เท่านั้น



กำลังโหลดความคิดเห็น