ส.อ.ท.วิตกกฎหมายว่าด้วยแรงงานใหม่ TFTEA อาจทำสินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ถูกแบนหากไม่เตรียมพร้อมรับมือ เหตุอุตสาหกรรมไทยส่อแววเข้าข่ายทั้งใช้แรงงานขัดหนี้ และแรงงานนักโทษในปัจจุบัน เตรียมเปิดเวทีสัมมนาแจงสมาชิกเตรียมพร้อมรองรับ
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในงานสัมมนา “ถอดรหัสเสรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง 2559” จัดโดย ส.อ.ท.เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ว่า ขณะนี้ภาคเอกชนกำลังติดตามการบังคับใช้กฎหมายศุลกากร Trade Facilitation and Trade Enforcement Act 2015 (TFTEA) ที่สหรัฐอเมริกาต้องการบังคับให้กับสินค้าที่ส่งเข้าไปยังสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เนื่องจากหากธุรกิจที่ใช้แรงงานของไทยที่เข้าข่ายกฏหมายดังกล่าวไม่ปรับตัวจะกระทบต่อการส่งออกในอนาคตที่อาจจะรุนแรงกว่ากรณีปัญหาการค้ามนุษย์ของไทยที่ขณะนี้ถูกสหรัฐอเมริกาจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง (เทียร์ 2 ที่ถูกจับตามอง)
ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมุ่งเป้าสินค้านำเข้าที่ส่งไปยังสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ต้นน้ำและปลายน้ำต้องไม่เข้าข่ายกฎหมายดังกล่าวที่ระบุไว้ว่าจะต้องไม่บังคับใช้แรงงานที่สำคัญ 2 กลุ่ม ได้แก่ แรงงานขัดหนี้ คือแรงงานที่มีการจัดหามาด้วยการจ่ายเงินล่วงหน้าให้เพื่อให้ได้แรงงานมาแล้วมาหักในค่าจ้างภายหลัง ตัวอย่างเช่น กรณีแรงงานภาคเกษตรที่จ่ายเงินให้ไปก่อนเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวก็จะต้องมาทำให้แล้วจะมีการหักหนี้คืน หรือกรณีการใช้แรงงานต่างด้าวปัจจุบันของไทยที่มีการจัดหาผ่านนายหน้าที่จะจ่ายค่านายหน้าไปก่อนแล้วมาหักภายหลัง แม้ตามกฎหมายไทยจะไม่ผิด แต่กฎหมาย TFTEA ถือว่าผิด อีกกลุ่มคือ แรงงานนักโทษซึ่งที่ผ่านมมรัฐและเอกชนจะส่งเสริมการฝึกอาชีพแล้วผลิตสินค้าหากส่งออกมายังสหรัฐฯ ก็จะถือว่าผิดเช่นกัน
“อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานต่งด้าวที่ถูกกฎหมายส่วนใหญ่จะจัดหาผ่านนายหน้า และส่วนใหญ่ก็จะใช้วิธีมาหักหนี้ซึ่งวิธีทำกันอยู่และมีจำนวนมาก โดยกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มถือว่าใช้แรงงานต่างด้าวมากอีกกลุ่ม ทาง ส.อ.ท.กำลังจะจัดสัมมนาเรื่องนี้เพื่อที่จะเร่งให้ความรู้กับภาคธุรกิจในการเตรียมแผนรับมือโดยเฉพาะในเรื่องเอกสาร เพราะกฎหมายนี้ได้มอบสิทธิให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐสหรัฐฯ กรณีมีร้องเรียนว่าสินค้านำเข้าอยู่ในขอบข่ายใช้แรงงานต้องห้ามที่ระบุไว้ก็จะถูกกักสินค้าซึ่งจะใช้เวลานาน เราจึงต้องเตรียมตัวรับมือไว้ก่อน” นายวัลลภกล่าว