xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.พร้อมรับมือก๊าซฯ JDA หยุดจ่าย 20-31 ส.ค.นี้ ลั่นไม่กระทบไฟใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กฟผ.” เตรียมพร้อมมาตรการรองรับผลกระทบก๊าซฯ JDA หยุดจ่าย 20-31 สิงหาคมนี้ที่ส่งผลให้โรงไฟฟ้าจะนะชุดที่ 2 ต้องหยุดเดินเครื่องผลิต มั่นใจไร้ผลกระทบไฟฟ้าภาคใต้


นายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) แจ้งกำหนดการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA-A18) ระหว่างวันที่ 20-31 ส.ค.นี้ รวม 12 วัน เพื่อบำรุงรักษาประจำปี ส่งผลให้โรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 2 ไม่สามารถเดินเครื่องได้ รวมทั้งต้องมีการเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงสำหรับเดินเครื่องโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 1 จากก๊าซธรรมชาติเป็นน้ำมันดีเซล โดย กฟผ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีมาตรการและแผนรองรับทุกด้านไว้พร้อมแล้ว

สำหรับมาตรการรองรับของ กฟผ.คือ ด้านระบบผลิตไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 1 พร้อมเดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซล ซึ่ง กฟผ.ได้ทดสอบเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งยังได้ตรวจสอบโรงไฟฟ้าภาคใต้ทั้งหมดให้พร้อมใช้งาน งดการหยุดเดินเครื่องเพื่อบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าภาคใต้ ในช่วงหยุดจ่ายก๊าซฯ และประสานการไฟฟ้ามาเลเซียขอซื้อไฟฟ้าในกรณีฉุกเฉิน ด้านระบบส่งทำการตรวจสอบสายส่งและอุปกรณ์สำคัญในภาคใต้ให้พร้อมใช้งานก่อนเริ่มหยุดจ่ายก๊าซฯ และหยุดการบำรุงรักษาระบบส่งภาคใต้ช่วงหยุดจ่ายก๊าซฯ

ด้านเชื้อเพลิง ได้สำรองน้ำมันให้เพียงพอเต็มความสามารถจัดเก็บก่อนเริ่มหยุดจ่ายก๊าซฯ และที่สำคัญคือได้เตรียมทีมงานติดตามสถานการณ์ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ตลอดจนมีแผนสำรองพร้อมเข้าแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันที โดยคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้ในช่วงหยุดจ่ายก๊าซฯ ไว้ที่ 2,570 เมกะวัตต์ และมีความพร้อมด้านกำลังผลิตโรงไฟฟ้าในภาคใต้ 2,448 เมกะวัตต์ ในส่วนที่เหลือรับไฟฟ้าจากภาคกลางผ่านสายส่งเชื่อมโยงภาคกลาง-ภาคใต้

“กฟผ.ได้เตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์การหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ JDA-A18 ไว้ทุกด้าน เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ แต่อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดพลังงาน ในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง (18.00-21.30 น.) เพื่อความมั่นคงเชื่อถือได้ของระบบผลิตไฟฟ้าโดยรวมของประเทศเป็นสำคัญ” นายสุธนกล่าว

สำหรับการหยุดบำรุงรักษาแหล่ง JDA-A18 จะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้เติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปี จึงมีความจำเป็นต้องจัดหากำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้เพิ่มเติมเพื่อให้ระบบไฟฟ้าภาคใต้ยังคงมีความเพียงพอและมั่นคงตลอดไป
กำลังโหลดความคิดเห็น