ผู้จัดการรายวัน 360 - “ไดกิ้น” รุกตลาดแอร์เต็มกำลัง ทุ่ม 1.5 หมื่นล้านบาทเพิ่มฐานผลิตใหม่ในเวียดนาม พร้อมขยายกำลังการผลิตคอมเพรสเซอร์ในไทยเพิ่มรับตลาดอินเวอร์เตอร์ในอนาคต พร้อมปักธงลุยต่างจังหวัดเต็มกำลัง ผ่านงบ 500 ล้านบาท เดินแผนสู่ปี 2563 ล่าสุดผุดสำนักงานขาย 3 แห่งในเมืองใหญ่ มั่นใจจบปีงบประมาณ 59 รายได้ทะลุ 1.1 หมื่นล้านบาท เติบโต 22% พร้อมรั้งบัลลังก์เจ้าแห่งอินเวอร์เตอร์ ด้วยส่วนแบ่งไม่ต่ำกว่า 26%
นายฮิโตชิ ทานากะ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด เปิดเผยว่า ตามแผนฟิวชัน 20 “ไดกิ้น” จะให้ความสำคัญด้านการขายใน 2 ภูมิภาค คือ เอเชียโอเชียเนีย และอเมริกาใต้ โดยในส่วนของเอเชียโอเชียเนียนั้นแต่ละประเทศจะมีการใช้ยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะประเทศไทยและเวียดนามถือเป็นตลาดที่สำคัญและยังมีโอกาสเติบโตสูง ส่งผลให้บริษัทแม่พร้อมใช้งบลงทุนกว่า 1.5 หมื่นล้านบาทในการเพิ่มฐานการผลิตเครื่องปรับอากาศในเวียดนามเพื่อรองรับการขายในประเทศจากความต้องการ 7 แสนเครื่องเป็น 1 ล้านเครื่องในอีก 1-2 ปีหลังจากนี้จากปัจจุบันที่นำเข้าจากประเทศไทยเป็นหลัก
ส่วนในประเทศไทยนั้นหลังจากที่ลดการส่งออกไปเวียดนามแล้ว พร้อมใช้งบลงทุนอีก 5 พันล้านบาทในการเพิ่มกำลังการผลิตคอมเพรสเซอร์ที่โรงงานเดิมที่จังหวัดระยอง จากปัจจุบันอยู่ที่ 2 ล้านเครื่องต่อปี เป็น 3.5 ล้านเครื่องต่อปี โดยจะเริ่มดำเนินการได้ในอีก 2 ปีข้างหน้าเพื่อรองรับตลาดอินเวอร์เตอร์ที่คาดว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็ว
ด้าน นายสมพร จันกรีนภาวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด กล่าวเสริมว่า แผนดำเนินการของประเทศไทยในปีนี้พร้อมรุกตลาดในต่างจังหวัดมากขึ้น ภายใต้งบลงทุนรวม 500 ล้านบาท แบ่งออกเป็นงบการตลาด 400 ล้านบาท จากเดิมใช้ 300 ล้านบาทในปีก่อน โดยในปีนี้จะเน้นสร้างแบรนด์และสร้างการรับรู้ในกลุ่มผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังใช้งบขยายสาขาอีกราว 80-100 ล้านบาทใน 4 ส่วน คือ สำนักงานขายและบริการ, สำนักงานบริการ, สำนักงานบริการเคลื่อนที่ และตัวแทนจำหน่ายอะไหล่ที่ได้รับการแต่งตั้ง
ในส่วนของการขยายสาขา ล่าสุดในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาได้ขยายสำนักงานขายและบริการใหม่ 3 แห่ง คือ เชียงใหม่ ภูเก็ต และขอนแก่น เพื่อเป็นการลดขั้นตอนการทำงานต่างๆ โดยสามารถดำเนินการที่สาขาได้เลย อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่และยังช่วยขยายฐานผู้บริโภคเครื่องปรับอากาศ “ไดกิ้น” ให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น โดยยังเตรียมขยายสาขาไปยังจังหวัดต่างๆ รวม 10 สาขา ภายในปี 2561 เพื่อให้ครอบคลุมทั่งประเทศ เช่น นครสวรรค์, อุบลราชธานี, นครราชสีมา, ราชบุรี, ระยอง, อ.หาดใหญ่ สงขลา, สุราษฎร์ธานี เป็นต้น
ส่วนร้านค้าตัวแทนจำหน่ายจะเน้นเพิ่มร้านตัวแทนจำหน่ายเครื่องปรับอากาศ “ไดกิ้น” หรือ “Pro Shop” ให้ได้ 100 สาขาภายในปี 2563 จากปัจจุบันมีอยู่ 10 สาขา ด้วยนโยบาย 1 จังหวัด 1 Pro Shop ส่วนในกลุ่มลูกค้า B2B เช่น กลุ่มงานโครงการและกลุ่ม Developer ยังคงให้ความสำคัญต่อเนื่อง รวมถึงในตลาดค้าปลีกยังมีการจัดโปรโมชันกระตุ้นยอดขายอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการขยายช่องทางจำหน่ายทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมถึงการดึง “ณเดชน์ คูกิมิยะ” มาเป็นพรีเซนเตอร์
ในส่วนของผลิตภัณฑ์จะเน้นทำตลาดทั้ง 2 ส่วน คือ โฮมยูส และโครงการ โดยในส่วนของโฮมยูสปัจจุบันมีอยู่ 5 รุ่น เน้นกลุ่มตลาดอินเวอร์เตอร์เป็นหลัก ด้วยความเป็นผู้นำและเป็นรายแรกในการนำเสนออินเวอร์เตอร์และน้ำยา R32 เข้าสู่ตลาด ส่งผลให้ปัจจุบัน “ไดกิ้น” เป็นผู้นำตลาดในกลุ่มอินเวอร์เตอร์ด้วยส่วนแบ่งไม่ต่ำกว่า 26% จากปัจจุบันเครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์มีส่วนแบ่งยอดขายกว่า 30% ของตลาดรวมทั้งหมดที่มีความต้องการอยู่ที่ 1,497,500 เครื่องในปี 2559 และคาดว่าในปี 2563 จะเพิ่มเป็น 2,222,000 เครื่อง
ภาพรวมของตลาดเครื่องปรับอากาศสำหรับที่พักอาศัยในเมืองไทยมีมูลค่าสูงประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เติบโตราว 7% แต่ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นในปี 2559 ทำให้ช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 40% ขณะที่ “ไดกิ้น” มียอดขายเติบโตถึง 60% ส่วนในตลาดอินเวอร์เตอร์นั้นเติบโตถึง 70% และ “ไดกิ้น” เติบโตถึง 80%
ส่วนในแง่รายได้นั้น ปีนี้มองว่าจะปิดที่ 1.1 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 22% โดยกว่า 40% เป็นยอดขายกลุ่มอินเวอร์เตอร์จากช่องทางจำหน่ายหลัก 3 ทาง คือ โมเดิร์นเทรด 10% ดีลเลอร์ 55% และโครงการ 30% โดยคาดว่าในปี 2563 จะมีรายได้เติบโตเป็นเท่าตัว หรือไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท
“แผนการดำเนินงานหลังจากนี้จะรุกในส่วนของต่างจังหวัดมากขึ้น เชื่อว่าสิ้นปียอดขายต่างจังหวัดจะเพิ่มเป็น 45% จาก 40% ในปีก่อน ส่วนรายได้ในกรุงเทพฯ จะลดลงแทนเป็น 55% จากปีก่อน 60% โดยภายในปี 2563 ยอดขายต่างจังหวัดจะเป็นรายได้หลักที่ 73% และกรุงเทพฯ จะเหลือเพียง 27%” นายสมพรกล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2558 “ไดกิ้น” ทั่วโลกทำรายได้สูงถึง 6.89 แสนล้านบาท มาจากเครื่องปรับอากาศ 89% สารเคมี 8% และอื่นๆ 3% จากการจำหน่ายใน 149 ประเทศทั่วโลก ด้วยฐานผลิต 80 แห่ง ขณะที่ในประเทศไทยมีฐานผลิต 5 แห่ง