xs
xsm
sm
md
lg

โชว์บิซพลิกกลยุทธ์คอนเสิร์ต สปอนเซอร์คิดหนัก-คนดูคิดต้องคุ้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360 - ตลาดคอนเสิร์ตโชว์บิซในไทยแข่งกันดุเดือด หน้าเก่าหน้าใหม่ทยอยลงตลาดแต่ละปีมากกว่า 100 งาน เผยผู้ที่อยู่รอดได้ต้องสร้างจุดแตกต่างทั้งคอนเทนต์ กลยุทธ์ และรูปแบบ ไม่เช่นนั้นอยู่รอดยาก เพราะเศรษฐกิจก็ไม่ดี กำลังซื้อลดลง ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น สปอนเซอร์หายาก เปิดกลยุทธ์เด็ด 2 ค่าย “ซีไอ-ทีกรุ๊ป” รุกตลาดคอนเสิร์ต

นายญาณกร อภิราชกมล กรรมการบรหาร บริษัท ครีเอท อินเทลลิเจ้นซ์ จัด หรือซีไอ (CI) ผู้ดำเนินธุรกิจทางด้านอีเวนต์ โชว์บิซ เปิดเผยว่า งานโชว์บิซรวมทั้งคอนเสิร์ตและเฟสติวัลไทยในปัจจุบันมีการจัดรายการกันมากมายจากผู้ประกอบการหลายค่าย ทั้งที่เป็นค่ายใหญ่รายเก่าและค่ายใหม่ หรือแม้แต่ค่ายเล็กๆ ที่เกิดขึ้นมาจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นกระแสของตลาดที่ผู้ประกอบการเองเห็นว่ามีคนทำแล้วประสบความสำเร็จ ขณะที่ผู้บริโภคให้ความสนใจเฟสติวัลและคอนเสิร์ตต่างๆ ที่มีหลายรายการและต้องการที่จะเสพความบันเทิง

ในแต่ละปีประมาณกันว่ามีงานโชว์บิซคอนเสิร์ตไม่ต่ำกว่า 100 งาน ล่าสุดเมื่อปีที่แล้วมีมากกว่า 120-150 งาน ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก รวมทั้งศิลปินไทยและศิลปินต่างประเทศด้วย ประกอบกับตลาดรวมโซว์บิซในไทยมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 1 พันล้านบาท และมีการเติบโตมากเฉลี่ย 10% ทุกปี จึงทำให้ใครๆ ก็อยากเข้ามาสู่ตลาด

แต่ขณะนี้สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลงไปแล้วเพราะภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี ผู้บริโภคมีกำลงซื้อที่ถดถอย อีกทั้งคอนเทนต์ของงานที่มีมากก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันเท่าใดนักและไม่มีจุดเด่น โดยจำนวนโชว์บิซคอนเสิร์ตที่ม มากนี่เองทำให้เจ้าของสินค้า หรือสปอนเซอร์จำเป็นต้องเลือกรายการมากขึ้นเพราะมีผู้จัดขอเป็นสปอนเซอร์มากมาย การที่จะให้ผู้ประกอบการทุกรายคงเป็นไปไม่ได้

“ยุคนี้สปอนเซอร์หายากมากขึ้น เพราะเจ้าของสินค้าเองก็ตัดงบโฆษณาลง ยุคที่เศรษฐกิจไม่ดี ยอดขายสินค้าตกลง ส่วนใหญ่แล้วตอนนี้สินค้าที่ถูกขอไปเป็นสปอนแซอร์นั้นเป็นรายใหญ่แบรนด์เป็นที่รู้จักดีอยู่แล้วในตลาด ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องมาเสียเงินเพื่อสร้างแบรนด์อีกแล้ว แต่ต้องการจะลงโฆษณา หรือสนับสนุนเป็นสปอนเซอร์เพื่อหวังผลทางยอดขายเป็นหลักมากกว่า ซึ่งก็ไม่ใช่ทุกงานจะทำให้ได้ ในส่วนของเรายอมรับว่าการได้สปอนเซอร์มาจากสองอย่างประกอบกันคือ คุณภาพความแตกต่างของงานโชว์บิซของเราและการรู้จักกับสปอนเซอร์อยู่แล้ว” นายญาณกรกล่าว

สอดคล้องกับความเห็นของอีกค่ายอย่าง บริษัท ที กรุ๊ป โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ที่แม้จะเป็นรายใหม่ในวงการไม่กี่ปีก็ตาประมาณ 2 ปี แต่ก็มีผลงานและกลยุทธ์ที่น่าสนใจ

นางทักษญา ธีญานารถธนันชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที กรุ๊ป โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวให้ความเห็นว่า ตลาดโชว์บิซในปัจจุบันมีมากมาย แต่ส่วนใหญ่ก็ซ้ำและคล้ายกันไม่ค่อยมีอะไรแตกต่างโดยเฉพาะเวลานี้จะสังเกตได้ว่าคอนเสิร์ตเกาหลีเข้ามามากมายซึ่งก็ยังพอที่จะขายได้เพราะเกาหลีฟีเวอร์ในไทยยังมีกระแสอยู่ การเข้ามาในธุรกิจนี้หลายคนคิดว่าง่าย แค่เจรจาเอาศิลปินดีๆ มาเล่นคอนเสิร์ตและหาสปอนเซอร์ก็จบแล้ว แต่จริงๆ แล้วไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะทุกอย่างต้องมีระบบและมีปัจจัยอื่นสนับสนุนอีกมาก

“ทุกงานที่เราจะต้องจัดนั้นต้องคำนวณกำไรไม่ต่ำกว่า 20% จึงจะอยู่ได้ ต่างจากอดีตที่กำไรน้อยมากแค่ 10-12% ก็ทำกันแล้ว อีกทั้งก่อนที่เราจะเลือกเอาศิลปินใดเข้ามาในไทยนั้นก็ต้องเสี่ยงและศึกษาตลาดให้ดีก่อนว่าตลาดมีความต้องการวง หรือศิลปินรายนั้นมากน้อยเพียงใด กำลังซื้อยังพอมีไหม เพราะเรื่องค่าตั๋วในไทยก็มีความสำคัญเช่นกันที่คนจะซื้อหรือไม่ซื้อตั๋ว รวมถึงช่วงเวลาที่จัด”

นางทักษญายังกล่าวยอมรับด้วยว่า ทุกวันนี้สปอนเซอร์ก็หายากมากขึ้นเช่นกัน มองไปงานไหนก็มีแต่รายใหญ่ๆ ซ้ำกันหมด คงเป็นเรื่องยากที่จะให้สินค้ารายนั้นจะให้การสนับสนุนทุกงาน ส่วนคนดูเองก็คิดหนักว่าเมื่อซื้อตั๋วเข้ามาดูแล้วจะได้อะไรกลับไปบ้างนอกจากความสนุกสนาน คือ เราต้องสร้างประสบการณ์และความประทับใจให้แก่คนดูด้วย ดังนั้นกลยุทธ์สำคัญที่ทั้งสองนี้ทำเหมือนกันคือ การสร้างความแตกต่าง เพราะหากคอนเทนต์มีเอกลักษณ์แล้วไม่จำเจ ย่อมหมายความว่ามันมีมูลค่าเพิ่มในตัวเอง

ไอเดียบรรเจิด-สุดเลิศกลยุทธ์
การสร้างความแตกต่างในตลาดเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในยามนี้ไม่วาจะเป็นธุรกิจอะไร นายญาณกรให้ความเห็นในฐานะที่เป็นทั้งผู้จัด หรือครีเอตงานขึ้นมาเองและนำเข้างานจากต่างประเทศด้วย เพราะการนำเข้าคอนเสิร์ตต่างประเทศ หรือการคิดงานขึ้นมาเองใครก็ทำได้ แต่เอาเข้ามา หรือว่าสร้างขึ้นมาแล้วจะสร้างกระแส หรือสร้างความสำเร็จนั้นยากกว่า เทศกาลคอนเสิร์ตหน้าหนาว ดูเหมือนว่าจะจัดกันเยอะแยะไปหมด ก็มีหลายค่ายจัด ถามว่าคนดูจะสามารถไปดูได้หมดทุกงานหรือไม่ ตอบคือไม่ใช่ เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น นี่แหละคือปัญหาและความท้าทายของผู้จัด

จัดคอนเสิร์ตหน้าฝนแหวกตลาด
CI ภายใต้การบริหารงานของนายญาณกรมีความเชี่ยวชาญและทำธุรกิจที่สามารถต่อยอดจากธุรกิจเดิมได้แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ
1.กลุ่มโชว์บิซ โดยทั่วไปจะรู้จัก CI ในฐานะผู้จัดเอาต์ดอร์ มิวสิก เฟสติวัล โดยมีการจัดงานอย่างต่อเนื่องจนเป็นผู้นำในอันดับต้นของวงการแล้ว เช่น งานเสม็ด อินเลิฟ มิวสิก เฟสติวัล และซีซันส์ ออฟ เลิฟ ซอง มิวสิก เฟสติวัล ที่จัดต่อเนื่องมาสู่ปีที่ 7

ในปี 2559 CI ได้เพิ่มปริมาณงานในกลุ่มนี้จาก 3 งานปีที่แล้วเป็น 7 งาน โดยส่วนใหญ่งานโชว์บิซจะอยู่ในครึ่งปีหลังเป็นหลัก ได้แก่ งานเสม็ด อินเลิฟ ครั้งที่ 7, ซิงกิ้ง อิน เดอะเรน ซีซันส์ ออฟเลิฟ ซอง 6.1, ปรากฏการณ์เฉลียง, เรฟปาร์ตี้, ซีซันส์ ออฟ เลิฟ ซอง 7, คราฟท์ แอนด์ โรล คาร์นิวัล 2 เป็นต้น

ในไตรมาสแรกปี 2560 CI วางแผนจะเพิ่มการจัดงานเป็น 12 งาน หรืออย่างน้อยเดือนละ 1 งาน โดยมีโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้นด้วยเพื่อให้สามารถสร้างความแตกต่างได้คือ งานเอ็กซิบิชันนำเข้ามิวสิกอีเวนต์แนว “อีดีเอ็ม” ซึ่งถือเป็นเวิลด์คลาสอินดอร์โปรดักชันมาจากยุโรป และถือลิขสิทธิ์รายเดียวในเอเชียคือ ทรานส์มิชชัน เอเชีย 2017 และวางแผนแตกไลน์โชว์บิซเพิ่ม

งานที่แหวกแนวคือ คอนเสิร์ตซิงกิงอินเดอะเรน ซีซันส์ ออฟ เลิฟ ซอง 6.1 เพราะเป็นคอนเสิร์ตกลางแจ้งเอาต์ดอร์ที่จัดในหน้าฝนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นงานแรกในไทยก็ว่าได้ เพราะคอนเสิร์ตส่วนใหญ่มักจะจัดกันในช่วงหน้าหนาว หรือช่วงสิ้นปี เพราะต้องการสร้างอะไรใหม่ๆ เป็นการทดลองตลาดดู โดยจะแสดงในวันที่ 13 สิงหาคม 2559 ที่เขาใหญ่ คาดหวังคนเข้าชม 5 พันคน

2.กลุ่มงานบริการ วางกลยุทธ์การสื่อสารการตลาด กิจกิจกรรม

3.กลุ่มงานดิจิตอลมาร์เกตติ้งและโซเชียลเน็ตเวิร์กคอมมูนิตี้และการต่อยอดจากเครือข่ายต่างๆ เช่น ซับ-คัลเจอร์-ไลฟ์สไตล์ การท่องเที่ยวผ่านช่องทางดิจิตอลและเชื่อมกับออฟไลน์ โดยปี 2559 จากทั้งหมด 7 งาน ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 350 ล้านบาท เพิ่มมาจากปีที่แล้วที่มี 3 งาน รายได้ 200 ล้านบาท สัดส่วนรายได้มาจากโชว์บิซ 45% และอีก 55% มาจากงานดิจิตอล และงานบริการ

“จากนี้ไปงานพวกเอาต์ดอร์จะเหนื่อยมากขึ้น งานจะต้องจับกลุ่มเป้าหมายแบบนิชมาร์เกตมากขึ้น เราต้องลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุด พึ่งความหวังจากการขายตั๋วมากขึ้นด้วยคอนเทนต์ที่ดีมีคุณภาพ เพราะเราจะขึ้นราคาบัตรมากๆก็ไม่ได้ เศรษฐกิจก็ไม่ดี” นายญาณกรกล่าว

ดูคอนเสิร์ตก่อนผ่อนทีหลัง 0%
ขณะที่ทางค่าย “ทีกรุ๊ป” ก็ปรับตัวเช่นกัน นางทักษญา ผู้บริหารของทีกรุ๊ป กล่าวว่า เศรษฐกิจตอนนี้ที่ไม่ดี เราต้องเลือกโชว์และศิลปินมากขึ้น โดยทุกงานต้องคำนวณให้ดี ที่สำคัญเจะไม่ซื้อลิขสิทธิ์ต่อจากคนกลางอีกแล้ว เพราะจะมีปัญหามากและลงทุนค่อนข้างสูง โดยเคยมีประสบการณ์มาแล้วตอนซื้อไลเซนส์ต่อจากบริษัทอื่นที่ได้สิทธิ์มา เป็นคอนเสิร์ตที่จัดที่ประเทศพม่า

ในปี 2559 “ทีกรุ๊ป” มีการจัด 4 งานใหญ่คือ ย่างกุ้งมิวสิกเฟสติวัล ที่จัดไปแล้วที่พม่า ร่วมมือกับ “กลุ่มเซ” ที่ได้ร่วมมือกันตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ Z BELL ดำเนินงาน, งาน Let It Be A Celebration of the Music of The Beatles - Part II 16-17 July 2016 เป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกับบริษัท AC Entertainment ของมาเลเซีย, คอนเสิร์ตเกาหลี คิม คีบัม “Make a wish KimKiBum Birthday party in Thailand 2016” 21 ส.ค. 2016 ที่ไทย และงานสุดท้ายเป็นคอนเสิร์ตเกาหลีจัดในไทย แต่ละงานตั้งเป้ามีรายได้ประมาณ 20% ของงบลงทุน ซึ่งปีนี้ลงทุน 4 งานนี้ทั้งหมดประมาณ 80 ล้านบาท

สำหรับขนาดของงานที่สามารถไปได้ดีน่าจะอยู่ที่ประมาณ 5 พันคนต่อรอบเป็นอย่างต่ำ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น ค่าตัวศิลปิน, เจ้าหน้าที่ทีมงานติดตาม, ค่าอุปกรณ์แสงสีเสียง, สถานที่ เป็นต้น

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า การจัดโชว์บิซในไทยกับมาเลเซียจะได้กำไรมากที่สุดเมื่อเทียบกับในอาเซียนด้วยกันเพราะราคาบัตรสูงกว่าที่อื่น เมื่อเทียบกับพม่าบัตรราคาต่ำมากเพียงหลักร้อยบาทเท่านั้นเอง หากมองในแง่ของกลยุทธ์การจัดโชว์บิซของค่าย “ทีกรุ๊ป” ตัวอย่าง 1 เคส คือ งานคอนเสิร์ตเกาหลี คิม คีบัม “Make a wish KimKiBum Birthday party in Thailand 2016” 21 ส.ค.59ในไทยซึ่งตัวศิลปินเองก็โด่งดังเป็นที่รู้จักคลั่งไคล้ในกลุ่มวัยรุ่นไทยอยู่แล้วจึงไม่ยาก

กลยุทธ์ที่ใช้กับคอนเสิร์ต “Make a wish KimKiBum Birthday party in Thailand 2016” 21 ส.ค.59 คือ
1.เวลาจัดงานตรงกับวันคล้ายวันเกิดของ “คิม คิบอม” ซึ่งจะทำให้แฟนคลับที่ไปดูคอนเสิร์ตมีความรู้สึกมากกว่าการดูคอนเสิร์ตเพราะจะเหมือนการมาร่วมงานเลี้ยงฉลองวันเกิดศิลปินด้วย
2.การใช้กลยุทธ์ดูก่อนผ่อนทีหลัง โดยไม่มีดอกเบี้ยนาน 6 เดือน จากราคาบัตร 2-6 พันบาท เรียกว่าดูคอนเสิร์ตก่อนแล้วผ่อนทีหลัง โดยร่วมมือกับบัตรเครดิตชั้นนำหลายแห่ง เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย เป็นต้น
3.การสร้างประสบการณ์แก่ผู้ชมด้วยการให้โอกาสกับคนดูสามารถจับมือกับศิลปินด้วยตัวเองทุกคน โดยจัดรอบเดียวจำนวน 3 พันที่นั่ง

นางทักษญากล่าวว่า ในปี 2559 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้กลุ่มเอนเตอร์เทนเมนต์ไว้ที่ 120 ล้านบาท จากการจัด 4 งานใหญ่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ทำได้ประมาณ 70 ล้านบาทซึ่งจัดเพียง 2 งาน ส่วนปี 2560 มีแผนจัด 6 งาน ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายภายใน 5 ปีจะมีรายได้ 500 ล้านบาท สัดส่วนไทย 65% ต่างประเทศ 35%

นี่คือการปรับตัวและการงัดกลยุทธ์ใหม่ของ 2 ค่ายโชว์บิซน้องใหม่แต่มาแรง เพื่อสร้างโอกาสและความอยู่รอดในตลาด



กำลังโหลดความคิดเห็น