“กรมชลประทาน” เร่งก่อสร้างโครงการขุดคลองลัดบรรเทาอุทกภัย อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง เผยจะตัดยอดน้ำก่อนเข้าเมืองช่วยลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 2,000 ไร่ คิดเป็น 41% แถมยังกักเก็บน้ำในคลองลัดไว้เพื่อการเกษตร และอุปโภคบริโภคได้ด้วย
นายประพิศ จันทร์มา ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยถึงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยใน อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ว่ากรมชลประทานได้วางแผนขุดคลองลัดเลี่ยงเมืองย่านตาขาว เพื่อผันน้ำจากคลองปะเหลียนออกสู่ทะเลโดยเร็ว ขณะเดียวกันเท่ากับตัดลดยอดน้ำจากคลองปะเหลียนที่ไหลเข้าไปท่วมพื้นที่เทศบาลตำบลย่านตาขาว และหมู่บ้านรอบๆ ซึ่งในขณะนี้การขุดคลองลัดสายที่ 1 ความยาว 8.709 กิโลเมตร น่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2559 และจะลดพื้นที่น้ำท่วม 2,000 ไร่ คิดเป็น 41%
“คลองปะเหลียนที่จะเข้าเขตเทศบาลย่านตาขาว รองรับอัตราการไหลของน้ำได้ 500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที กรมชลประทานออกแบบให้คลองลัดสายที่ 1 รับน้ำไป 350 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เหลือน้ำส่วนที่เข้าเมืองเพียง 150 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และถึงแม้จะมีลำน้ำสาขาจากด้านบนไหลไปสมทบในเมืองย่านตาขาวก็อยู่ในวิสัยที่พอจะรองรับได้”
นายประพิศกล่าวว่า ตามโครงการขุดคลองลัดสายที่ 1 นอกจากตัวคลองแล้วยังมีประตูระบายน้ำในคลองลัด จำนวน 2 แห่ง และประตูระบายน้ำในคลองปะเหลียน 1 แห่ง สะพานรถยนต์ข้ามคลอง 7 แห่ง และอาคารรับน้ำ 19 แห่ง
“นอกจากช่วยตัดลดยอดน้ำบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเขตเทศบาลย่านตาขาวได้แล้ว โครงการนี้ยังสามารถกักเก็บน้ำไว้ในคลองลัดและคลองธรรมชาติที่ขุดลอกไว้ เพื่อใช้ในการเกษตร การอุปโภคบริโภค รวมทั้งใช้คันคลองเป็นทางสัญจรเพื่อความสะดวกรวดเร็วได้อีกด้วย”
ปกติในฤดูน้ำหลาก น้ำในแม่น้ำปะเหลียนรวมทั้งลำน้ำสาขามักจะไหลเอ่อท่วมพื้นที่ อ.ย่านตาขาว ซึ่งเป็นเขตชุมชนหนาแน่นจนได้รับความเสียหายเป็นประจำ โครงการขุดคลองลัดและก่อสร้างอาคารชลประทาน จึงเป็นทางหนึ่งในการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง