โพลสำรวจสถานการณ์คอร์รัปชันในไทยเดือน มิ.ย. คนเริ่มเชื่อว่าจะไม่โกงลดลงจากการสำรวจครั้งก่อน หลังรัฐลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ หวั่นเกิดการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง เผยตัวเลขรีดใต้โต๊ะยังมีอยู่ 1-15% คาดหากรีดสูงสุดเสียหายกว่า 1.78 แสนล้านบาท ฉุดจีดีพีลด 1.27% “ธนวรรธน์” เผยยังมีบางรายที่ต้องจ่าย 30-35% เพื่อให้ได้งาน
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย จากกลุ่มตัวอย่าง 2,400 ตัวอย่างที่สำรวจจากประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการภาคเอกชน และข้าราชการภาครัฐ เมื่อเดือน มิ.ย. 2559 ว่าดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทยโดยรวมอยู่ที่ 53 คะแนน จากเต็ม 100 คะแนน (0 คะแนน หมายถึงสถานการณ์ปรับตัวแย่ลงที่สุด และ 100 คะแนน หมายถึง สถานการณ์ปรับตัวดีที่สุดถึงไม่มีปัญหาเลย) ลดลงจาก 55 คะแนนในการสำรวจครั้งก่อนเมื่อเดือนธ.ค. 2558 แต่ดัชนียังยืนอยู่เหนือ 50 คะแนนได้ ถือว่าสถานการณ์คอร์รัปชันไทยยังดีอยู่ และยังดีกว่าการสำรวจในช่วงที่ผ่านมา ส่วนดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันในปัจจุบันอยู่ที่ 51 จากครั้งก่อนที่ 52 คะแนน และดัชนีแนวโน้มสถานการณ์ในอนาคตอยู่ที่ 56 จากครั้งก่อนที่ 57 เพราะรัฐมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงให้เกิดการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเกิดขึ้นได้
ทั้งนี้ หากแยกดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันออกเป็น 4 หมวด พบว่า ดัชนีปัญหาและความรุนแรงของการคอร์รัปชัน อยู่ที่ 48 ลดจาก 52 ในการสำรวจครั้งก่อน ดัชนีการป้องกันการคอร์รัปชัน อยู่ที่ 53 ลดจาก 56 ดัชนีการปราบปรามคอร์รัปชัน อยู่ที่ 55 เพิ่มจาก 54 และดัชนีการสร้างจริยธรรมและจิตสำนึก อยู่ที่ 57 เพิ่มจาก 56
“ถ้าเปรียบเทียบความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชันในปัจจุบันกับปีที่ผ่านมา ผู้ที่ตอบว่ารุนแรงเพิ่มขึ้นมี 38% น้อยกว่าครั้งก่อนที่ตอบมากถึง 44% ส่วนความรุนแรงในปีหน้า มีผู้ตอบรุนแรงเพิ่มขึ้นเพียง 16% น้อยกว่าครั้งก่อนที่มี 28% แต่กลับมีผู้ที่ตอบว่า รุนแรงเท่าเดิม 30% สูงกว่าครั้งก่อนที่มี 17% ส่วนความสามารถที่จะทานทนต่อการทุจริต อยู่ที่ 2.41 คะแนน จากเต็ม 10 คะแนน เท่ากับการสำรวจครั้งก่อน โดย 0 คะแนนหมายถึงเกลียดการทุจริต และ 10 คะแนน หมายถึงสามารถทนต่อการทุจริตได้” นางเสาวณีย์กล่าว
ส่วนสาเหตุสำคัญของการเกิดทุจริต อันดับ 1 คือ กฎหมายเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจที่เอื้อต่อการทุจริต อันดับ 2 ความไม่เข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมาย และอันดับ 3 กระบวนการทางการเมืองขาดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ยาก ซึ่งทั้ง 3 อันดับ ยังอยู่ในอันดับเดิมตั้งแต่มีการสำรวจในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ส่วนรูปแบบการคอร์รัปชั่นที่เกิดบ่อยที่สุด อันดับ 1 ยังคงเป็นการให้สินบน ของกำนัล หรือรางวัล อันดับ 2 คือ การใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว และอันดับ 3 การใช้ตำแหน่งทางการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์แก่พรรคพวก
นางเสาวณีย์กล่าวว่า ความเสียหายของการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยประเมินจากงบประมาณรายจ่าย ปี 2559 ที่ 2.72 ล้านล้านบาท แม้จะมีการจ่ายเงินใต้โต๊ะ แต่อัตราการจ่ายอยู่ที่เฉลี่ย 1-15% เท่ากับการสำรวจครั้งก่อน โดยหากจ่ายที่ 5% มูลค่าความเสียหายจะอยู่ที่ 59,610 ล้านบาท หรือ 2.19% ของเงินงบประมาณ และมีผลทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง 0.42% แต่หากจ่ายที่ 15% คิดเป็นความเสียหาย 178,830 ล้านบาท หรือ 6.57% ของเงินงบประมาณ และมีผลทำให้เศรษฐกิจลดลง 1.27% โดยการลดการเรียกเงินสินบนลงทุกๆ 1% จะทำให้มูลค่าความเสียหายจากการคอร์รัปชันลดลง 10,000 ล้านบาท
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ค่าเฉลี่ยความสามารถที่จะทานทนต่อการทุจริตคอร์รัปชัน ในการสำรวจเดือน มิ.ย. 2559 อยู่ที่ 2.41 เท่ากับครั้งก่อน และยังเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่มีการสำรวจในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งชี้ให้เห็นว่า คนไทยเริ่มรับไม่ได้กับการคอร์รัปชัน และผู้ตอบส่วนใหญ่ 85% ระบุยินดีมีส่วนร่วมในการป้องกันต่อต้านการทุจริต ส่วนอีก 9% ตอบไม่ต้องการมีส่วนร่วม และอีก 6% อยากมีส่วนร่วม แต่ทำไม่ได้ เพราะความจำเป็น กลัวอันตราย
“แม้แนวโน้มดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย จะดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา แต่ในการสำรวจล่าสุดยังพบว่า ยังมีความพยายามหาช่องว่างของกระบวนการที่จะจ่ายเงินใต้โต๊ะหรือเงินพิเศษเพิ่มขึ้น โดยบางรายต้องการจ่าย 30-35% เพื่อให้ได้งาน” นายธนวรรธน์กล่าว
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีที่ในปีนี้ องค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ได้ประเมินสถานการณ์คอร์รัปชันในไทยดีขึ้น โดยจัดให้อยู่ในอันดับที่ 10 ของเอเชีย จากปีก่อนที่อันดับ 12 และอยู่อันดับ 76 ของโลก