xs
xsm
sm
md
lg

บีโอไอเผยผลศึกษา 5 ตลาดใหม่ แนะลงทุนฐานผลิตในอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บีโอไอนำเสนอผลการศึกษาเชิงลึกกลุ่มประเทศตลาดใหม่ พบศรีลังกามีสิทธิตามกรอบเอฟทีเอเป็นประตูสู่ตลาดเอเชียใต้ ด้านการลงทุนในยูกันดาและมองโกเลียเน้นกลุ่มเครื่องหนัง-โรงไฟฟ้า-เครื่องประดับ แนะนักลงทุนไทยมองโอกาสกลุ่มตลาดใหม่ที่เศรษฐกิจเติบโตเร็ว

นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)เปิดเผยถึงผลการศึกษา “โอกาสการลงทุนไทยในตลาดใหม่ : ศรีลังกา ยูกันดา โมซัมบิก อุซเบกิสถาน และมองโกเลีย” ว่า ผลการศึกษาที่บีโอไอนำมาเผยแพร่ครั้งนี้เป็นข้อมูลเชิงลึกที่บีโอไอร่วมมือกับสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังลงพื้นที่จริงสำรวจกลุ่มประเทศตลาดใหม่ ข้อมูลที่ได้จะช่วยให้ผู้ประกอบการทราบถึงโอกาสตลอดจนระเบียบวิธีปฏิบัติ สภาวะทางธุรกิจ สังคม และการเมือง ที่สำคัญยังได้นำเสนอปัญหาและอุปสรรคจากนักลงทุนไทยที่ได้เข้าไปลงทุนจนประสบความสำเร็จแล้ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ช่วยให้นักลงทุนทราบข้อมูลสำคัญเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจก่อนออกไปลงทุนจริง

สำหรับศรีลังกา ในช่วงระหว่างปี 2003 ถึงปี 2015 ได้มีบริษัทไทยหลายบริษัทเข้าไปลงทุนในประเทศศรีลังกา โดยส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรม รวมถึง อาหารแปรรูป จากการศึกษาพบว่าอุตสาหกรรมที่เป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยจะมีสาขายางสำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้า อาหารแปรรูป การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และอาหารสัตว์ เป็นต้น ที่สำคัญศรีลังกามีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับอินเดียและปากีสถาน รวมทั้งได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) จากสหภาพยุโรปและอเมริกา นักลงทุนไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ และจีเอสพีเหล่านี้ในการเข้าถึงตลาดได้สะดวกขึ้น

ยูกันดา ในช่วงระหว่างปี 2003 ถึงปี 2015 บริษัทไทยที่เข้าไปสร้างโรงงานเป็นบริษัทผลิตเครื่องสำอาง และจำหน่ายสินค้าปลีก ที่ตั้งของประเทศเป็นจุดเชื่อมต่อสำหรับการกระจายสินค้าของทวีปแอฟริกา โอกาสที่นักลงทุนไทยจะเข้าไปลงทุนคือ การลงทุนในสาขาเครื่องหนัง เริ่มตั้งแต่อุตสาหกรรมฟอกหนังไปถึงรองเท้า เข็มขัด กระเป๋า และเฟอร์นิเจอร์หนังสำหรับโรงแรม นอกจากนั้นยังมีโอกาสการลงทุนในกลุ่มอาหารสำเร็จรูป เช่น ปลากระป๋อง ไส้กรอก น้ำมันปลา เป็นต้น ที่สำคัญยูกันดาเป็นประเทศที่มีภูมิประเทศและอากาศสมบูรณ์ ทำให้ปลูกพืชบางชนิดได้ 2 ฤดู จึงเหมาะแก่การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรเชิงพาณิชย์

มองโกเลีย บริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนแล้วจะเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจบริการด้านสุขภาพ เนื่องจากพื้นที่ของประเทศมองโกเลียอุดมไปด้วยแร่ธาตุและทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย เช่น ทองแดง ถ่านหิน โมลิบดีนัม ดีบุก ทังสเตน และทองคำ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ความหลากหลายในภูมิประเทศและภูมิอากาศทำให้มองโกเลียมีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่อุดมสมบูรณ์ ส่วนสาขาอุตสาหกรรมที่นักลงทุนไทยมีโอกาสเข้าไปลงทุน คือ การทำเหมืองแร่ โรงไฟฟ้า ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจด้านการศึกษา

โมซัมบิก เป็นประเทศที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ มีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เกษตรกรรมน้อย มีเขตชลประทานที่อุดมสมบูรณ์ ขณะเดียวกันยังมีทรัพยากรทางทะเลอุดมสมบูรณ์ราคาถูก แต่ขาดการแปรรูปสินค้า นักลงทุนไทยจึงมีโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูป เช่น อาหารกระป๋อง อาหารทะเลแช่แข็ง

อุซเบกิสถานเป็นประเทศที่มีทรัพยากรหลัก ได้แก่ ผลไม้ ฝ้าย และถั่วต่างๆ สินค้าส่งออกส่วนใหญ่จะส่งออกขั้นพื้นฐานโดยไม่มีการแปรรูป รัฐบาลของอุซเบกิสถานจึงกำหนดนโยบายภาคอุตสาหกรรม โดยส่งเสริมให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้า โดยเฉพาะการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เช่น สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป น้ำผลไม้ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น