xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าประเมิน “เบร็กซิต” ฉุดจีดีพีไทยหายไป 0.32% แนะรัฐแก้เกมกระตุ้นบริโภคภายใน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ประเมิน “เบร็กซิต” ฉุดจีดีพีไทยหายไป 0.32% หรือมูลค่าหายเฉียด 5 หมื่นล้านบาท ทั้งจากภาคส่งออก ท่องเที่ยว และการบริโภคที่ลดลง แนะรัฐกระตุ้นการบริโภคในประเทศ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการประเมินกรณีเบร็กซิตพบว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้จีดีพีหายไป 0.32% หรือ 44,850 ล้านบาท จากการที่มูลค่าส่งออกหายไป 24,850 ล้านบาท โดยเฉพาะจากตลาดอังกฤษ 8,875 ล้านบาท จากตลาดอียูรวมทั้งอังกฤษ 14,200 ล้านบาท, รายได้จากการท่องเที่ยวหายไป 10,000 ล้านบาท หลังนักท่องเที่ยวลดลง 200,000 คน เฉพาะนักท่องเที่ยวอังกฤษหายไป 60,000 คน มูลค่า 3,000 ล้านบาท และการบริโภคภายในประเทศลดลง 10,000 ล้านบาท ทำให้คาดว่าจีดีพีไทยที่เดิมจะโต 3-3.5% ลดลงเหลือเพียง 2.7-3.2% แต่ศูนย์ฯ ยังไม่ปรับจีดีพีใหม่ โดยจะรอดูผลระยะกลาง 1-3 เดือนจากนี้ก่อนว่าผลกระทบจะมีทิศทางใด

“เกิดเบร็กซิตในช่วงนี้ยังเป็นผลดีต่อไทย เพราะนักท่องเที่ยวยังไม่หายไปมาก เนื่องจากไม่ใช่ช่วงไฮซีซัน แต่เป็นโลว์ซีซันอยู่ แต่เมื่อเข้าเดือน ต.ค.จะต้องรอดูสถานการณ์อีกครั้งว่าจะมีผลมากน้อยแค่ไหน อียูจะใช้ไม้นวมหรือใช้ไม้แข็งกับอังกฤษเพื่อไม่ให้ประเทศอื่นเอาอย่างซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จะต่างกัน โดยเชื่อว่าระยะแรกคงค่อยๆ เจรจากันเพื่อประคองไม่ให้เศรษฐกิจโลกบอบช้ำมาก และในช่วงไตรมาส 4 พอเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวก็ค่อยเล่นกันแรงๆ หนักๆ”

ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ขอแนะนำให้รัฐบาลเร่งสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทยด้วยการกระตุ้นการบริโภคภายใน ทั้งเร่งกระตุ้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ตั้งงบกลาง หรือกองทุนฉุกเฉิน เพื่อไว้อัดฉีดเงินเข้าระบบ 50,000 ล้านบาท ตามวงเงินที่จะหายไป เพื่อพยุงเศรษฐกิจ โดยให้เน้นการอัดฉีดเข้าภาคเกษตรกร กลุ่มฐานราก รวมทั้งการผลักดันการค้าชายแดน ตั้งแต่ครึ่งปีหลังนี้เป็นต้นไปถึงปีหน้า

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ศูนย์ฯ ยังได้สำรวจภาคธุรกิจบริการ การค้า อุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรมพบว่า ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจภายในประเทศและธุรกิจในภาคการส่งออก มองว่าปัญหาเบร็กซิตกระทบระยะสั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ กำไร และสภาพคล่องมากนัก เพราะยังเชื่อว่าภาคเศรษฐกิจของไทยยังมีความเข้มแข็งอยู่ แต่ยอมรับว่าจะกระทบในภาคการท่องเที่ยวมากกว่า

“ในระยะสั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่กังวลต่อปัญหาเบร็กซิต แต่ในระยะยาวมากกว่า 1 ปี ส่วนใหญ่ กังวลปัญหานี้ โดยพบว่า 100% กังวลว่าจะมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ทั้งในภาคธุรกิจในประเทศและธุรกิจส่งออก รองลงมากังวลเรื่องรายได้ กำไรที่ลดลง รวมถึงสภาพคล่องและต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เพราะรายได้ที่เกิดจากต่างประเทศเฉลี่ย 29.9% ของรายได้รวม หรือ 34.2%” นายธนวรรธน์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น