xs
xsm
sm
md
lg

รัฐ-เอกชนเดินหน้าจัดตั้ง กรอ.ไมซ์ เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอรรคพล สรสุชาติ ประธานอนุกรรมการประสานงานภาครัฐเพื่อการอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าและบริการอุตสาหกรรมไมซ์
ผู้จัดการรายวัน 360 - ภาครัฐและเอกชนร่วมถกหาแนวทางมาตรการในการแก้ไขอุปสรรคเพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านการค้า การลงทุน และบริการของอุตสาหกรรมไมซ์ ก่อนสรุป 9 ข้อเสนอ พร้อมเห็นพ้องจัดตั้ง กรอ.ด้านอุตสาหกรรมไมซ์ สอดรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล

ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) มีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 59 ในการแต่งตั้งอนุกรรมการประสานงานภาครัฐเพื่อการอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าและบริการอุตสาหกรรมไมซ์ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาศึกษาและจัดทำแนวทางมาตรการในการแก้ไขอุปสรรคเพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านการค้า การลงทุน และบริการของอุตสาหกรรมไมซ์ เสนอต่อคณะกรรมการ สสปน. และประชุมหารือ รวมถึงระดมความร่วมมือจากผู้ประกอบการภาคเอกชนเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขอุปสรรค รวมถึงบูรณาการและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนนั้น

นายอรรคพล สรสุชาติ ประธานอนุกรรมการประสานงานภาครัฐเพื่อการอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าและบริการอุตสาหกรรมไมซ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการฯ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมภาครัฐและเอกชนภายใต้หัวข้อ MICE : New Chapter บริบทใหม่อุตสาหกรรมไมซ์ โดยเบื้องต้นได้ข้อเสนอแนะ 9 ข้อดังนี้

1. การกำหนดพื้นที่เฉพาะ (Special Zoning) สำหรับการจัดงานประชุมและงานแสดงสินค้า 2. สสปน.มีอำนาจหน้าที่ในการรับรอง (Endorsement) งานประชุมและงานแสดงสินค้าเพื่อพิจารณาขอรับสิทธิพิเศษต่างๆ 3. สสปน.จัดทำคู่มือ (Manual) เกี่ยวกับเรื่องการนำสิ่งของมาใช้ในงานประชุมและงานแสดงสินค้า เช่น กฎระเบียบและขั้นตอนการนำเข้า การขอใบอนุญาตระยะเวลาการยื่นเอกสาร เป็นต้น 4. กำหนดวัตถุประสงค์ของการนำเข้าสิ่งของให้มีความชัดเจนว่าจะนำเข้ามาเพื่อใช้ในงานประชุมและงานแสดงสินค้า หรือเพื่อจำหน่ายเพื่อการลดขั้นตอนและระยะเวลา

5. สสปน.จัดระดับความน่าเชื่อถือของกลุ่มผู้ประกอบการด้านไมซ์ โดยแบ่งเป็นระดับ Premium Class ระดับ Gold Class และระดับ Silver Class เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาและตรวจสอบในเรื่องการนำสิ่งของเข้าให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น 6. สสปน.พัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไมซ์ให้บุคลากรภาครัฐและการจัดหลักสูตรเพื่อการฝึกอบรมด้านไมซ์ลอจิสติกส์แก่บุคลากรภาคเอกชน 7. จัดระบบการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับกฎ ระเบียบ ขั้นตอน และการขอใบอนุญาตสำหรับการนำเข้าสินค้าเพื่ออุตสาหกรรมไมซ์ โดยเชื่อมโยงกับระบบสารสนเทศระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

8. การจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง สสปน. กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อปรับปรุงแก้ไขขั้นตอนและแนวปฏิบัติ เพื่อการอำนวยความสะดวกในการนำเข้าเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ เพื่อใช้แสดง หรือสาธิตในงานแสดงสินค้าและนิทรรศการนานาชาติ 9. สสปน.ควรเป็นผู้ประสานงานในการจัดกิจกรรม หรือการประชุมนั้นๆ และแจ้งให้กระทรวงการต่างประเทศทราบอย่างเป็นทางการล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน

นายอรรคพลกล่าวเพิ่มเติมว่า คณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้มีความแตกต่างจากทุกชุดที่ผ่านมาซึ่งเน้นส่งเสริมกลยุทธ์ทางด้านการตลาดและอื่นๆ เป็นหลัก เนื่องจากมีหน้าที่ร่วมกันหารือถึงข้อเสนอแนะเชิงปฏิรูปเพื่อพัฒนาไปสู่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล โดยการประชุมครั้งนี้ยังมีความเห็นร่วมกันในการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ด้านอุตสาหกรรมไมซ์ โดยจะเสนอต่อคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) หรือสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพื่อเสนอรัฐบาลต่อไป

“ข้อเสนอแนะทั้ง 9 ข้อในการประชุมครั้งนี้มีหลายเรื่องที่หลายหน่วยงานภาครัฐต่างดำเนินการอยู่แล้ว เพียงแต่ยังขาดหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างภาครัฐกับเอกชน สสปน.จึงเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ โดยมั่นใจว่าผลจากการประชุมครั้งนี้จะเป็นการนำปัญหาที่มีมาสรุปหาคำตอบและแนวทางที่สามารถปฏิบัติได้เพื่อให้อุตสาหกรรมไมซ์เดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

นายอรรคพลกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นกลุ่มผู้นำด้านอุตสาหกรรมไมซ์ในทวีปเอเชียที่มีจุดเด่นและข้อได้เปรียบด้านต่างๆ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค, บุคลากร, สถานที่จัดงาน, สถานที่ท่องเที่ยวและที่พัก และอื่นๆ เพียงแต่ยังติดขัดเรื่องกฎระเบียบต่างๆ บางเรื่องเท่านั้น โดยประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์มากถึง 215 ฉบับ ทำให้เป็นข้อจำกัดเมื่อเทียบกับคู่แข่ง เช่น สิงคโปร์ มาเก๊า และฮ่องกง เป็นต้น

“จาก 9 ข้อเสนอข้างต้น หาก สสปน.จัดทำคู่มือเกี่ยวกับเรื่องการนำสิ่งของมาใช้ในงานประชุมและงานแสดงสินค้าได้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรมภายในสิ้นปี 2559 จะมีส่วนสำคัญให้การดำเนินการด้านต่างๆ ของอุตสาหกรรมไมซ์ในปี 2560 มีความชัดเจนและสร้างโอกาสในการแข่งขันได้อย่างมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น”

อนึ่ง คณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าวประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ 15 ราย ได้แก่ กรมการกงสุล, กรมสรรพสามิต, กรมการค้าต่างประเทศ, คณะกรรมการอาหารและยา, คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง โดยมี นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการ สายงานบริหารและสนับสนุนกลยุทธ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สปปน.ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ

ขณะที่ตัวแทนภาคเอกชนที่เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย สมาคมผู้ประกอบการวิสาหกิจในย่านราชประสงค์, บริษัท เอ็น.ซี.ซี.แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด, บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมนเนจเม้นท์ จำกัด, บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด, บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท สามพราน ริเวอร์ไซด์ จำกัด, บริษัท ไดเวอร์ซิไฟด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท สื่อสากล จำกัด, กลุ่มบริษัทภิรัชบุรี เป็นต้น



กำลังโหลดความคิดเห็น