ธพ.แจงกรณีโลกโซเชียลมีเดียแชร์กระหน่ำประชาชนที่มาเติมน้ำมันและแก๊สฯ ถ้าไม่ปิดมือถือ ดับเครื่องยนต์จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ไม่เป็นจริง เพราะกฎหมายของกรมฯ เอาผิดเฉพาะเจ้าของปั๊มเพราะต้องการดูแลผู้บริโภค แต่หากผู้บริโภคก่อให้เกิดปัญหาก็จะมีความผิดตามกฎหมายอื่นๆ
นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในโลกโซเชียลออนไลน์ ที่มีการแชร์ข่าว “ประชาชนที่มาเติมน้ำมันหรือแก๊สในปั๊ม ถ้าไม่ดับเครื่องยนต์ หรือใช้โทรศัพท์มือถือจะมีความผิดต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ว่าไม่เป็นความจริง และขอชี้แจง ดังนี้
1. กฎหมายว่าด้วยสถานีบริการน้ำมัน กำหนดให้ปั๊มน้ำมันต้องจัดให้มีป้ายเตือนบริเวณตู้จ่ายน้ำมัน ให้ดับเครื่องยนต์ ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามก่อประกายไฟ และปิดโทรศัพท์มือถือ และเจ้าของปั๊มต้องควบคุมดูแลสอดส่องให้เด็กปั๊ม และผู้มาเติมน้ำมัน ต้องปฏิบัติตามป้ายเตือนตลอดเวลาที่มีการให้บริการ และหากผู้มาใช้บริการไม่ปฏิบัติตาม เด็กปั๊มสามารถปฏิเสธการเติมน้ำมันได้
2. กรณีเด็กปั๊มเห็นผู้มาเติมน้ำมันฝ่าฝืนไม่ทำตามป้ายเตือนและยังเติมน้ำมันให้ กรณีเช่นนี้เจ้าของปั๊มจะมีความผิด 3. กรณีประชาชนผู้มาใช้บริการภายในเขตสถานีบริการน้ำมัน ไม่ว่าจะมีการเติมน้ำมันหรือไม่ หากก่อให้เกิดประกายไฟ เช่น สูบบุหรี่หรือจุดไฟแช็ก แล้วทำให้เกิดเพลิงไหม้หรือเสียหาย ผู้นั้นจะมีความผิดตามกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายแพ่งหรือกฎหมายอาญา เป็นต้น
“กฎหมายของกรมฯ เป็นการคุ้มครองผู้บริโภค จึงขอให้ผู้บริโภคปฏิบัติตามระเบียบของกรมฯ ด้วย แต่หากท่านไม่ทำตามระเบียบ เช่น ไปโทรศัพท์แล้วเกิดปัญหาไฟไหม้ในปั๊มก็ถือเป็นความผิดกฎหมายแพ่งและอาญาได้ แต่ไม่ได้ผิดกฎหมายกรม” นายวิฑูรย์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมธุรกิจพลังงานกำลังยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของการประกอบกิจการน้ำมัน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว และก๊าซธรรมชาติทุกประเภทที่ได้รับใบอนุญาตจากกรมธุรกิจพลังงาน (มี 23 กิจการ) โดยได้ออกกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติและการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงและมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ที่กำหนดให้การประกอบกิจการดังกล่าวต้องมีพนักงานที่ผ่านการอบรมแต่ละแห่งไม่น้อยกว่า 1 คน ภายในเวลา 2 ปี