“สศอ.” เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน เม.ย.โต 1.54% ยังคงขยายตัวต่อเนื่องหลังการผลิตอุตสาหกรรมหลักๆ ยังคงมีทิศทางที่เพิ่มขึ้น ทั้งยานยนต์ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน เม.ย. 59 อยู่ที่ 99.59 มีอัตราขยายตัวต่อเนื่อง 1.54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิตของอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมรถยนต์, อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า, อุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 58.43 ลดลงจากเดือน มี.ค. 59 ที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 72.79 ปัจจัยสำคัญมาจากการลดลงของการส่งออกและอีกส่วนมาจาก เม.ย.มีวันทำการน้อย แต่หากเทียบกับ เม.ย. 58 มีอัตราที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์ การผลิตรถยนต์ มีจำนวน 138,237 คัน เพิ่มขึ้น 11.51% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยเป็นการเพิ่มขึ้นของตลาดในประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายเร่งผลิตรถยนต์ PPV ให้ทันต่อความต้องการของตลาด
ส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.36% ได้แก่ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่ง เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต คอมเพรสเซอร์ หม้อหุงข้าว สายไฟฟ้า และเครื่องรับโทรทัศน์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.91% โดย Other IC เพิ่มขึ้นถึง 9.43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเป็นชิ้นส่วนสำคัญในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการส่งออกไปสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน เพิ่มขึ้น
ด้านอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ผลผลิตเดือนเมษายน ปี 59 เพิ่มขึ้น 5.31% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการบริโภคเหล็กของไทยเดือน เม.ย. 59 เพิ่มขึ้น 45.7% ส่งผลให้ผู้ผลิตเพิ่มการผลิต ทั้งเหล็กทรงยาว เช่น เหล็กเส้น เหล็กลวด ลดลง และเหล็กทรงแบน เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น
อุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม จากสินค้าน้ำมันก๊าซโซฮอล์ 91 และน้ำมันก๊าซโซฮอล์ 95 เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันปรับตัวลดลง และผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านมาตรการกินเที่ยวทำให้มีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่อุตสาหกรรมอาหาร แม้การผลิตและการส่งออกในภาพรวมเดือน เม.ย. 59 ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.6% และ 5.3% ตามลำดับเนื่องจากการผลิตสินค้ากลุ่มน้ำตาลที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แต่ปริมาณการผลิตและการส่งออก สินค้าผักผลไม้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.7% และ 14.2% ตามลำดับ เนื่องจากการผลิตน้ำผลไม้จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นของประเทศผู้นำเข้า เช่น สหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์ รวมถึงผลไม้สดแช่เย็นแช่เข็งที่มีการผลิตและคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่ฤดูกาลออกผลผลิต เช่น ทุเรียน ซึ่งคำสั่งซื้อของประเทศผู้นำเข้าอย่าง จีน ฮ่องกง และเวียดนามเพิ่มขึ้น