xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” หารือบังกลาเทศ เดินหน้าเพิ่มความร่วมมือการค้าการลงทุน 2 ประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” เตรียมเข้าร่วมประชุม JTC ไทย-บังกลาเทศครั้งที่ 4 เดินหน้าเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หลังเป็นตลาดใหม่ที่มีโอกาสสูง ทั้งการส่งออกและการเข้าไปลงทุน ด้านบังกลาเทศเผยมีนโยบายต้อนรับนักลงทุนต่างชาติ ชวนไทยเข้าไปลงทุน พร้อมให้สิทธิประโยชน์เต็มที่

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานมหกรรมการค้าและการลงทุนบังกลาเทศ 2016 ร่วมกับนายโทไฟล์ อาเหม็ด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บังกลาเทศ ว่าทางบังกลาเทศได้แจ้งว่าพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-บังกลาเทศ ครั้งที่ 4 เพื่อหารือในประเด็นการเพิ่มความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ไทยจะเร่งเพิ่มความร่วมมือในด้านต่างๆ กับบังกลาเทศ เพราะบังกลาเทศเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพของไทยในกลุ่มเอเชียใต้ โดยสามารถส่งออกสินค้าตรงไปยังบังกลาเทศและสามารถส่งออกผ่านไปยังประเทศที่ 3 เนื่องจากบังกลาเทศถูกจัดอยู่ในประเทศพัฒนาน้อยที่ได้รับสิทธิประโยชน์ในการส่งออกสินค้าไปประเทศพัฒนาแล้วแบบไม่เสียภาษี และยังเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน หินปูน ผลผลิตทางการเกษตร ปอกระเจา ยาสูบ และทรัพยากรทางทะเล เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ไทยยังมีโอกาสในการขยายการลงทุน ทั้งการลงทุนโดยตรงและการเข้าไปร่วมลงทุนกับนักลงทุนบังกลาเทศ ที่ผ่านมาไทยได้มีการเข้าไปลงทุนในบังกลาเทศแล้วหลายอุตสาหกรรม เช่น การแปรรูปอาหาร และการลงทุนด้านสาธารณูปโภค

สำหรับการจัดงานมหกรรมการค้าและการลงทุนบังกลาเทศในครั้งนี้ บังกลาเทศได้นำผู้ประกอบการและนักลงทุนที่มีศักยภาพรวม 55 ราย เดินทางมาจัดแสดงสินค้าและหาลู่ทางในการทำการค้าและการลงทุนกับนักธุรกิจของไทย ซึ่งกระทรวงฯ ได้จัดให้มีการาเจรจาธุรกิจและทำบิสิเนส แมตชิ่ง เพื่อให้เกิดความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันด้วย

นายโทไฟล์ อาเหม็ด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บังกลาเทศ กล่าวว่า บังกลาเทศมีนโยบายในการต้อนรับนักลงทุนจากไทย โดยในการจัดงานครั้งนี้ไม่เพียงแต่นำบริษัทชั้นนำของบังกลาเทศมาร่วมงาน แต่ยังได้มีการนำเสนอเขตเศรษฐกิจพิเศษของบังกลาเทศ การนำเสนอภาพรวมการส่งเสริมการลงทุนของบังกลาเทศ และสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนต่างประเทศจะได้รับจากการเข้าไปลงทุน เพื่อชักจูงให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในบังกลาเทศ

โดยในปัจจุบันมีโครงการจากไทย 96 โครงการที่จดทะเบียนต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน บังกลาเทศ โดย 48 รายเป็นการลงทุนของบริษัทต่างประเทศ 100% และอีก 48 รายเป็นการลงร่วมลงทุนระหว่างไทยกับบังกลาเทศ มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 605 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมสัตว์ปีก ปลา อิเล็กทรอนิกส์ พลังงาน การแปรรูปอาหาร โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ และการลงทุนด้านสาธารณูปโภค ได้แก่ ทางด่วนยกระดับ ดาร์กกา โดยบริษัท อิตัล-ไทย เป็นต้น

“บังกลาเทศเป็นประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานในอัตราที่แข่งขันได้ พลังงานราคาต่ำ และต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ส่งผลให้บังกลาเทศได้รับการจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่น่าลงทุนสำหรับบริษัทญี่ปุ่นในปี 2558 ที่ผ่านมา และมีนโยบายในการต้อนรับนักลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งในส่วนของไทยเห็นว่าสามารถร่วมมือกันในธุรกิจต่างๆ ได้เป็นจำนวนมาก ทั้งการผลิตสินค้าทั่วไป อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม”

ปัจจุบันบังกลาเทศเป็นคู่ค้าอันดับ 44 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ รองจากอินเดียและปากีสถาน ตามลำดับ ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2554-2558) การค้ารวมมีมูลค่าเฉลี่ย 965.61 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปี 2558 การค้ารวมมีมูลค่า 902.79 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วง 4 เดือนของปี 2559 การค้ารวมมีมูลค่า 322.36 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 9.60 โดยในปี 2558 ไทยส่งออกสินค้าไปบังกลาเทศมีมูลค่า 858.61 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าสินค้าจากบังกลาเทศมีมูลค่า 44.18 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เม็ดพลาสติก ผ้าผืน เคมีภัณฑ์ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ ปูนซีเมนต์ เหล็ก เส้นใยประดิษฐ์ เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป สัตว์น้ำสด แช่เย็น/แช่แข็ง/แปรรูป และกึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค พืชและผลิตภัณฑ์จากพืชเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น