เอกชนชนะประมูลซื้อข้าวรัฐเซ็ง หลังรับมอบข้าวไม่ได้ เหตุไม่เป็นไปตามทีโออาร์ พบทั้งผิดชนิด และคุณภาพห่วย “ปลัดพาณิชย์” สั่งรวบรวมก่อนหาทางแก้ด่วน เผยเหตุไม่สามารถสุ่มตรวจได้ทันหมดก่อนนำมาเปิดประมูล ยันเจ้าของโกดังและเซอร์เวย์ต้องรับผิดชอบ
นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ที่ชนะการประมูลข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลที่ผ่านมา ทั้งการประมูลทั่วไป และการประมูลเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม บางรายประสบปัญหาการรับมอบข้าว หรือการขนข้าวออกจากคลัง เพราะข้าวในคลังที่รัฐบาลนำมาประมูลมีคุณภาพและชนิดไม่ตรงกับที่ประกาศไว้ในเงื่อนไขการประมูล ส่งผลให้ไม่สามารถรับมอบได้ ซึ่งผู้ชนะการประมูลอยู่ระหว่างการเจรจากับองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา
ทั้งนี้ พบว่าในการประมูลขายข้าวขาว 5% แต่เมื่อผู้ชนะประมูลจะรับมอบกลับเป็นข้าวคนละชนิดกัน หรืออย่างล่าสุดประกาศขายข้าวเหนียว แต่เวลาจะขนออกกลับพบเป็นข้าวตกเกรด ข้าวเสีย ที่ถูกดีดออกจากเครื่องสีข้าว ขณะนี้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้สั่งให้กรมฯ เร่งรวบรวมปัญหาเพื่อหาทางแก้ไขโดยเร็วแล้ว
สำหรับปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงของการรับจำนำข้าวในรัฐบาลที่ผ่านมา โดยเมื่อโรงสีที่รับจำนำข้าวจากเกษตรกรมาแล้ว ต้องสีแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร แล้วนำมาเก็บไว้ในโกดัง หรือคลังกลางที่รัฐบาลเช่าเพื่อฝากเก็บ โดยมีบริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว (บริษัทเซอร์เวย์) เป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพว่าตรงตามที่โรงสีรับจำนำมาหรือไม่ ถ้าไม่ตรงจะไม่สามารถรับข้าวเข้าโกดังได้ แต่กลับพบว่าหลายคลังเก็บข้าวที่คุณภาพ และชนิดไม่ตรงกับที่รับจำนำมา ซึ่งกรณีนี้ผู้ที่รับผิดชอบ คือ บริษัทเซอร์เวย์ หรือเจ้าของโกดังที่รัฐเช่าฝากเก็บข้าว
“ถ้าถามว่าตอนตรวจสภาพข้าวก่อนนำมาประมูลทำไมไม่เจอว่าเป็นข้าวผิดชนิด หรือข้าวไม่ได้คุณภาพ ต้องบอกว่าเวลาตรวจจะใช้วิธีการสุ่มตรวจตามสถิติ โดยข้าว 7 กองจะสุ่มตรวจ 1 กอง จะตรวจทุกกองไม่ไหว เพราะกระสอบข้าวมีจำนวนมากจึงตรวจไม่พบ และส่วนมากที่พบว่าไม่ได้มาตรฐานจะอยู่ข้างในลึกๆ ทำให้ตรวจไม่พบ” นางดวงพรกล่าว
นางดวงพรกล่าวว่า การแก้ปัญหา ผู้ที่ชนะการประมูลอยู่ระหว่างการเจรจากับ อคส. และ อ.ต.ก. ที่ดูแลคลังสินค้า เช่น เจ้าของโกดัง หรือบริษัท เซอร์เวย์ จะจ่ายชดเชยให้ผู้ชนะการประมูลอย่างไร เพราะทุกรายมีคำสั่งซื้อจากลูกค้าที่จะต้องส่งมอบให้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งการขนข้าวออกไม่ได้ ทำให้เอกชนเสียโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งหากตกลงกันไม่ได้ อคส. และ อ.ต.ก.คงต้องไกล่เกลี่ย หรืออาจฟ้องร้องดำเนินคดี
ส่วนการขายข้าวให้กับผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อ และนำคำสั่งซื้อมายื่นซื้อตรงจากกระทรวงพาณิชย์ และการขายให้นายหน้าข้าว (โบรกเกอร์) จากต่างประเทศ ขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไข และกำหนดคุณสมบัติของโบรกเกอร์ต่างประเทศ ซึ่งต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบที่สุด เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ให้เกิดข้อครหา หากได้ข้อสรุปแล้วน่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลสามารถระบายข้าวออกจากสต๊อกได้