xs
xsm
sm
md
lg

“เสริมสุข” จ่อกลุ่มใหม่เสริมพอร์ต ปูพรมพรีเซลเจาะพื้นที่หนาแน่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน360 - “เสริมสุข” โชว์ยอดขายไตรมาสแรกโต 15% กำไรพุ่ง 226% งัด 3 กลยุทธ์หลักสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่ง “ขยายตลาด-พัฒนาทีมขาย-คุมคอสต์” ดันสัดส่วนรายได้กลุ่มนอนแอลฯ เป็น 70%

นายสมชาย บุลสุข ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน ) กล่าวว่า ปี 2559 จะเป็นปีที่เสริมสุขมีเป้าหมายการพัฒนาบริษัทแข็งแกร่งทั้งระบบ เพื่อขับเคลื่อนกลุ่มไทยเบฟก้าวสู่การเป็นผู้นำเครื่องดื่มครบวงจรติด 1 ใน 5 ของเอเชียตามวิสัยทัศน์ 2020 หรือปี 2563 โดยคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติเมื่อปลายปีที่แล้วแต่งตั้ง นายวิเวก ชาห์บรา เป็นกรรมการผู้จัดการคนใหม่ของเสริมสุข

นายวิเวก ชาห์บรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ซึ่งดูแลเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในกลุ่มไทยเบฟ เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2559 ของเสริมสุขมียอดขายเติบโต 15% มากกว่าตลาดรวม ขณะที่แบรนด์น้ำดื่มคริสตัลมีแชร์จากตลาดรวมเพิ่มเป็น 17.3% จากเดิมไม่ถึง 17% ห่างจากอันดับที่ 1 ไม่มากที่มีแชร์ 20% และคริสตัลเป็นแบรนด์ที่ทำรายได้หลักกว่า 50% ให้กับเสริมสุขด้วย, แบรนด์โออิชิ มีแชร์ 43.1% เป็นผู้นำตลาดชาเขียว และเครื่องดื่มเอสมีแชร์ 10% คงที่ และจับใจเติบโตดี เป็น 4 แบรนด์หลักที่จะโฟกัส โดยมีกำไรก่อนหักภาษีค่าใช้จ่าย 87 ล้านบาท เติบโต 226%

บริษัทฯ มีสินค้าดูแล 7 แบรนด์ ส่วนอีก 3 แบรนด์ที่เหลือ เช่น วันฮันเดรดพลัส และแรงเยอร์ ก็มีแผนทำตลาดเพราะมีศักยภาพเพียงแต่ไม่มีการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งเพราะต้องการโฟกัส 4 แบรนด์หลักก่อน โดยมีสินค้าเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเป็นสัดส่วน 56% ของการจำหน่าย และจะเพิ่มเป็น 70% ของการจำหน่าย ซึ่งมากที่สุดในท้องตลาดเมื่อเทียบจากพอร์ตโฟลิโอบริษัทอื่นด้วยกัน ซึ่งมีสินค้าครอบคลุมความต้องการของตลาด 90% ใช้งบการตลาดรวม 15% จากยอดขายรวม
วิเวก ชาห์บรา (ซ้าย)  กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) และ  สมชาย บุลสุข (ขวา)  ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน )
สำหรับกลยุทธ์การเติบโตและแข็งแกร่ง คือ 1. การขยายตลาด 2. การพัฒนาทีมขายและกระบวนการทำงาน และ 3. การบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ โดยการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มเออีซี เช่น ส่งเครื่องดื่มเอสไปที่จีนบ้างแล้ว หรือส่งแรงเยอร์ไปที่มาเลเซียแล้ว รวมทั้งการสร้างตลาดใหม่ๆ เช่น การนำแบรนด์ใหม่เข้ามาทำตลาดจากสินค้าในเครืออย่างเอฟแอนด์เอ็น และการสร้างแบรนด์ใหม่เพิ่ม เช่น ตลาดนมถั่วเหลือง ตลาดน้ำผลไม้ และการขยายกำลังผลิตต่อเนื่อง ปี 59 จะลงทุนโรงงานผลิตน้ำดื่มที่ขอนแก่น และปีหน้าจะสร้างโรงงานที่สุราษฎร์ธานี เฉลี่ยลงทุน 300-500 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบันมี 7 โรงงาน

2. การพัฒนาทีมขาย เน้นการขยายโปรแกรมพรีเซลในพื้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่เพื่อเข้าถึงพื้นที่ร้านค้าหนาแน่น ปรับประสิทธิภาพทีมขาย การบริหารสต๊อกสินค้า การใช้ระบบอีแบงกิ้งในการชำระเงิน อยู่ระหว่างการศึกษาระบบ แทนการเก็บเงินสด กิจกรรมการตลาด ปัจจุบันมีรถลำเลียง 100 คัน และรถหน่วยขาย 1,000 คัน และ 3. การบริหารต้นทุน ประหยัดการซื้อวัตถุดิบผลิตบรรจุภัณฑ์ ลดการใช้พลาสติก ลดค่าใช้จ่ายด้านขนส่ง เป็นต้น

นายวิเวกกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันปริมาณรวมเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในไทยมีประมาณ 8,000 ล้านลิตรต่อปี โดย 50% เป็นน้ำดื่ม ส่วนอีก 20% เป็นน้ำอัดลม และที่เหลืออื่นๆ

ทั้งนี้ ตามวิสัยทัศน์ ปี 2020 หรือปี พ.ศ. 2563 จะมีรายได้ของกลุ่มสินค้าที่ไม่มีแอลกอฮอล์รวมทั้งหมด 40,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสองเท่าจากปีที่แล้วที่มี 20,000 ล้านบาท ส่วนปีนี้ตั้งเป้าหมายรายได้เป็น 25,000 ล้านบาท



กำลังโหลดความคิดเห็น