ผู้จัดการรายวัน 360 - “ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง” ทุ่ม 150 ล้านบาทอัปเกรดซอฟต์แวร์ตามแผน3-5 ปี ปูพรมสร้างดาต้าแบบสมบูรณ์หวังเจาะกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมทุกกลุ่ม หวังรายได้โตแบบก้าวกระโดด ล่าสุดปีนี้เดินหน้าลุยตลาดเออีซี เจาะตลาดจีนและลาว มั่นใจดันรายได้สิ้นปีโต 2 หลัก ทะลุ 4 พันล้านบาท
นายอำพา ยงพิศาลภพ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด ในกลุ่มซีพี ออลล์ เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีแผนการลงทุนด้านซอฟต์แวร์ในช่วง 3-5 ปีรวมประมาณ 400 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 เฟสเริ่มตั้งแต่ปี 2559 ที่กำลังอยู่ในช่วงเฟสที่ 1 โดยลงทุน 150 ล้านบาท คาดว่าจะสิ้นสุดในช่วง ต.ค. ส่วนเฟสที่ 2 น่าจะสรุปได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2560 ในการจัดการซอฟต์แวร์ให้ครอบคลุมในเรื่องข้อมูลมากที่สุดเพื่อนำไปสู่การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในทุกกลุ่มและทุกช่องทางทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเชื่อว่าเมื่อถึงเวลานั้นรายได้จะเติบโตแบบก้าวกระโดด หรือมีการเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักต่อปีอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังมีแผนเพิ่มคลังสินค้าอีก 1 แห่ง โดยกำลังพิจารณาทำเลระหว่าง จ.สุราษฎร์ธานี หรือชุมพร โดยคาดว่าอาจใช้งบลงทุนไม่สูงนัก จากปัจจุบันมีคลังสินค้าอยู่ 3 ส่วน คือ 1. คลังสินค้าของบริษัทฯ 2 รูปแบบ คือ คลังสินค้าแห่งใหญ่ที่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี พื้นที่ 9 พัน ตร.ม. และแบบศูนย์กลางคลังสินค้าสำหรับพักสินค้าก่อนส่งต่อในจังหวัดใหญ่ ปัจจุบันมีอยู่ 5 แห่ง คือ ศรีราชา, เชียงใหม่, ขอนแก่น, ตาก และนครราชสีมา 2. ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น จำนวน 20% ของสาขาทั้งหมด และ 3. เซเว่นอีเลฟเว่นสาขาใหญ่ 36 สาขา สำหรับพักสินค้ากลุ่ม SMEs ขนาดเล็กที่รอจำหน่ายต่อ
ส่วนแผนบริการใหม่ๆ ในปี 2559 จะมีอยู่ 3 ส่วน คือ 1. เพิ่มบริการระบบการรับจองสินค้าล่วงหน้าสำหรับกลุ่มสินค้าเกษตรกรรมที่ออกตามฤดูกาล โดยเริ่มทำมาได้ 3-4 ครั้งแล้วตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา 2. เพิ่มบริการการชำระเงินเพิ่มอีก 1 ช่องทางผ่านตู้เติมเงินสบายซึ่งเริ่มมาได้เดือนกว่าแล้ว และ 3. การเพิ่มช่องทางขายผ่านโมบายล์แอปพลิเคชัน wechat สำหรับกลุ่มตลาดจีน โดยนำเสนอสินค้าเพื่อความงามเป็นหลักซึ่งทำมาได้ 1 เดือนแล้วและได้รับการตอบรับอย่างดี จากนั้นในช่วงเดือน ต.ค.ศกนี้จะเปิดตัวเว็บไซต์ www.taiwang24.com สำหรับตลาดจีนโดยเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม แผนการดำเนินงานในปี 2559 ส่วนหนึ่งเพื่อต้องการเพิ่มช่องทางขายไปสู่ประเทศในกลุ่ม AEC เริ่มจากจีนและลาวที่ล่าสุดได้จับมือกับคู่ค้าคนไทยที่คุ้นเคย และร่วมทุนกับคนลาวในการนำสินค้าจากบริษัทฯ ไปจำหน่ายที่ประเทศลาว ภายใต้ชื่อร้าน “ดีแท้” ที่กรุงเวียงจันทน์ จำนวน 1 สาขา พบว่าได้รับการตอบรับจากคนลาวสูงมาก ส่วนประทศต่อไปที่น่าสนใจคือ กัมพูชา และพม่า
ปัจจุบันสินค้า SMEs ของไทยมีตลาดที่กว้างขวางขึ้นในการไปจำหน่ายในต่างประเทศ บริษัทฯ จึงได้มีการพัฒนาระบบการจัดส่งในรูปแบบของ “สโตร์ ฮับ” โดยนำสินค้ามาเก็บไว้ในร้าน “เซเว่น อีเลฟเว่น” พื้นที่ใกล้เคียงชั่วคราว ก่อนที่รถขนส่งจากศูนย์กระจายสินค้าส่วนกลางของ “ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง” จะมารับสินค้าไปส่ง รวมถึงระบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนนำเทคโนโลยีมาใช้บริหารจัดการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจกับคู่ค้าและพัฒนาระบบการรับจองสินค้าล่วงหน้าผ่านช่องทางของ “ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง” ในทุกพื้นที่ของประเทศ
ล่าสุดบริษัทฯ เปลี่ยนโลโก้เว็บไซต์และนิตยสารจากเลข 7 เป็นเลข 24 แทนทั้งหมด ได้แก่ นิตยสาร 24Catalog, www.shopat24.com, www.24catalog.com, www.amule24.com และ www.taiwang24.com จากช่องทางจำหน่ายหลักทั้งหมดที่มีอยู่ 3 ส่วน คือ 1. ออนกราวนด์ ประกอบด้วย ร้าน 7-11, แค็ตตาล็อก, ดีลิเวอรีเซอร์วิส 2. ออนไลน์ ประกอบด้วยเว็บไซต์, โซเชียล เน็ตเวิร์ก และโมบายล์ แอปพลิเคชัน ซึ่งปีนี้จะเน้นหนักมากขึ้น และ 3. ออนแอร์ ได้แก่ เคเบิลทีวี กับช่อง “ทรู ซีเลค” ในทรูวิชั่นส์ และคอลเซ็นเตอร์
“การลงทุนที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของแผนการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่ต้องการเน้นส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ด้วยการเป็นช่องทางในการจำหน่ายและกระจายสินค้า โดยสินค้าเหล่านี้จะต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานของภาครัฐที่กำหนด เป็นสินค้ามีคุณภาพดี ปลอดภัย มีกระบวนการผลิตที่ได้รับการรองรับ สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค อันจะช่วยให้ SMEs เติบโตได้อย่างยั่งยืน”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้วางแผนสนับสนุนผู้ประกอบการด้วยการพัฒนาสินค้าและบริการร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา พร้อมทั้งมีการพัฒนาระบบเพิ่มประสิทธิภาพการขายผ่านออนไลน์ รวมถึงการมีศูนย์นวัตกรรมของ “ซีพี ออลล์” เข้ามาให้ความรู้ด้านการพัฒนาสินค้านวัตกรรม คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่
อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมาบริษัทฯ มีคู่ค้า SMEs ประมาณ 900 ราย และเพิ่มเป็น 1.5 พันรายในปัจจุบัน คาดว่าเมื่อถึงสิ้นปีน่าจะมีถึง 2.2 พันราย ส่วนสินค้า SMEs ที่จำหน่ายผ่าน “ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง” ทั้งหมดมี 2.5 หมื่นรายการ คาดว่าจะเพิ่มเป็น 2.8 หมื่นรายการภายในปีนี้ ส่วนในแง่รายได้ปีที่ผ่านมาปิดเกือบ 4 พันล้านบาท เติบโต 2 หลัก ส่วนในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมายังเติบโตต่อเนื่อง 2 หลัก ส่วนสำคัญมาจากความมั่นใจทางเศรษฐกิจและการที่ภาครัฐส่งเสริมผู้ประกอบการ ถึงสิ้นปีนี้จึงมั่นใจว่ารายได้น่าจะไม่ต่ำกว่า 4 พันล้านบาท หรือมีการเติบโตต่อเนื่องเป็นตัวเลข 2 หลักเช่นปีที่ผ่านมา