xs
xsm
sm
md
lg

ซีอีโอ SPCG โชว์วิชั่นกลางเวทีรัฐสภาเยอรมนี ชูไทยเป็นผู้นำพลังงานเออีซี หนุนนโยบายรัฐบาลเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน สร้างงานในชนบทและเสริมสร้างความมั่นคง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG ได้รับเชิญจากสมาชิกรัฐสภาเยอรมัน ให้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ เรื่อง “การพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย” ในงาน “The 1st German-Asian Business Dialogue” ที่รัฐสภา กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในฐานะผู้นำองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานสะอาด มาใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยมีสมาชิกรัฐสภาเยอรมันเข้าฟังจำนวนมาก

โดยนางวันดี ได้แสดงวิสัยทัศน์ว่า การพัฒนาประเทศไทยโดยการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ก็เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ได้มีการศึกษารูปแบบการพัฒนาระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศเยอรมนีตั้งแต่ปี ค.ศ.1999 ซึ่งเป็นรูปแบบในการนำเสนอแก่รัฐบาลไทย และต่อมารัฐบาลไทยได้กำหนดการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทนในอัตราส่วนกว่า 30% ไปจนถึงปี พ.ศ.2579 และขณะนี้ไทยเป็นผู้นำในการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ทุกประเภท โดย SPCG เป็นผู้บุกเบิกการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เชิงพาณิชย์แห่งแรกในประเทศไทยและประชาคมอาเซียน ตั้งแต่ปี ค.ศ.2010 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างหันมาลงทุนและส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เชิงพาณิชย์ ทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ในภูมิภาค

สำหรับ SPCG เป็นผู้พัฒนาการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เชิงพาณิชย์รายแรกของประเทศไทย โดยการใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ของบริษัท Kyocera Corporationประเทศญี่ปุ่น และใช้เครื่องแปลงไฟจากบริษัท SMA GMBH ประเทศเยอรมนี เพราะเชื่อมั่นในคุณภาพ ความแข็งแรงทนทาน โดย SPCG มีกำลังการผลิตรวมกว่า 300 เมกะวัตต์ ในประเทศไทยและในญี่ปุ่น ด้วยเงินลงทุนกว่า 25,000 ล้านบาท โดยผลการดำเนินงาน สามารถช่วยสร้างงาน 20,000 ตำแหน่งในชนบทช่วงระหว่างก่อสร้าง ช่วยลดสภาวะโลกร้อนเทียบเท่า 210,000 ตัน CO2 ต่อปี โดยได้รับความเชื่อมั่นร่วมลงทุนและให้การสนับสนุนการเงินจาก international Finance Corporation (IFC) Member of World Bank Group และยังได้รับการสนับสนุนการเงินจากกองทุน Climate Change Fund โดยการนำมาผสมผสานกับเงินกู้ของสถาบันการเงิน เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงิน สามารถพัฒนาโครงการ SPCG จนประสบความสำเร็จทุกโครงการ


กำลังโหลดความคิดเห็น