“กฟผ.” เผยอุณหภูมิที่สูงขึ้นต่อเนื่องส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าสูงสุดทำลายตัวเลขพีกเป็นครั้งที่ 5 ของปี 2559 ที่ 29,249.4 เมกะวัตต์ และเป็นการเกิดพีก 3 วันติดต่อกัน คาดหวังช่วงหยุดยาวในเดือน พ.ค.และเริ่มสู่ฤดูฝนจะทำให้พีกเริ่มลดต่ำลง
นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 เวลา 14.33 น. ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือพีก (Peak) อยู่ที่ 2,9249.4 เมกะวัตต์ ทำลายตัวเลขการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปีนี้เป็นครั้งที่ 5 เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่อุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียส ถือเป็นการเกิดพีคติดต่อกัน 3 วันนับตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย. 59 สาเหตุสำคัญมาจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว และเป็นช่วงวันทำงานปกติจึงมีการใช้ไฟฟ้าทั้งภาคอุตสาหกรรม บริการ และบ้านอยู่อาศัยเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ พีกดังกล่าวนับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยพีกสูงสุดที่เกิดขึ้นในปี 2559 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2559 ที่ 27,639.3 เมกะวัตต์ ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ 28,351 เมกะวัตต์ ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 25 เม.ย.อยู่ที่ 28,475.3 เมกะวัตต์ ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559 เวลา 14.13 น. ที่ 29,004.6 เมกะวัตต์ ที่อุณหภูมิ 38.1 องศาเซลเซียส ขณะที่พีกสูงสุดของปี 2558 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 27,345.8 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม กฟผ.ได้เตรียมกำลังผลิตไฟฟ้าและเชื้อเพลิงเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า และขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันประหยัดไฟฟ้าตามมาตรการ “ปิด-ปรับ-ปลด-เปลี่ยน” วันละ 1 ชั่วโมง ในช่วงเวลา 14.00-15.00 น. เป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่ 20 มีนาคม - 20 พฤษภาคม 2559 โดยปิดไฟดวงที่ไม่ใช้ ปรับลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศมาอยู่ที่ระดับ 26 องศาเซลเซียส ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน และเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ที่ประหยัดไฟฟ้า ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศได้เป็นอย่างดี
“พีกที่เกิดขึ้นยอมรับว่าสูงกว่าเป้าหมายที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้นที่ 2,8500-29,000 เมกะวัตต์ และอุณหภูมิที่ร้อนจัดยังอาจส่งผลให้เกิดพีกได้อีกต่อเนื่อง และแม้ว่ากำลังสำรองจะเพียงพอแต่ก็อยากให้ประชาชนช่วยกันประหยัดเพราะไฟที่เพิ่มขึ้นหากเทียบกับปีที่แล้วเพิ่มถึง 1,903.6 เมกะวัตต์” ผู้ว่ากฟผ.กล่าว
สำหรับสถานการณ์การใช้ไฟฟ้า กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่า ในเดือนเมษายนไทยจะมีอากาศร้อนจัด จากนั้นจะเข้าสู่ช่วงวันหยุดในเดือนพฤษภาคม ในวันแรงงานแห่งชาติ วันฉัตรมงคล และวันพืชมงคล ซึ่งจะมีผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง และตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปจะเริ่มมีฝนตกและอากาศเย็นลง ทำให้การใช้ไฟฟ้าจะลดลงตามไปด้วย