xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตภัยแล้งชาวสวนผลไม้จันทบุรีล่ม ด่วนวอนรัฐเร่งทำอ่างเก็บน้ำลดต้นทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ในช่วงนี้หน้าร้อนที่เป็นปัญหาขณะนี้ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาใหญ่ คือปัญหาเรื่องน้ำขาดแคลน ซึ่งทำให้หลายจังหวัดต้องประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนของทุกปี ทำให้หลายคนมองว่าไม่ใช่เรื่องที่เป็นปัญหาอะไรแปลกใหม่ แต่ถ้าหากจะว่าไปทั่วประเทศไทยก็มีแต่เสียงเรียกร้องขอความช่วยเหลือ จนภาครัฐต้องออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยามากมาย เช่น การให้ชาวนาเลิกการปลูกข้าวนาปรังให้หันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนไปก่อน หรือมาตรการรณรงค์ให้ใช้น้ำช่วงเทศกาลสงกรานต์อย่างประหยัด เป็นต้นนั้น

วันนี้ พื้นที่ที่มีอาชีพปลูกไม้ผล โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทานอย่างจังหวัดจันทบุรี ซึ่งนับว่าเป็นพื้นที่ในส่วนของพืชเศรษฐกิจโดยเฉพาะผลไม้ สามารถทำรายได้ให้ประเทศเป็นมูลค่าการส่งออกได้ถึงปีละกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจจำนวน 1,650,263 ไร่ แบ่งเป็นทุเรียน 192,591 ไร่ เงาะ 103,407 ไร่ มังคุด 136,209 ไร่ ลองกอง 84,788 ไร่ ลำไย 142,424 ไร่ มันสำปะหลัง 239,688 ไร่ ปาล์มน้ำมัน 21,906 ไร่ ยางพารา 729,250 ไร่ คิดเป็นประมาณการปริมาณความต้องการน้ำ 956 ล้านลูกบาศก์เมตร

ปัญหาการใช้น้ำในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และเพื่อการอุปโภค-บริโภค จำนวน 1,018 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณฝนที่ตกในแต่ละปีด้วย หากปีใดมีปริมาณฝนตกในพื้นที่ที่มีแหล่งเก็บน้ำในปริมาณน้อยก็จะเกิดภาวการณ์ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงมกราคมถึงกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี

ล่าสุดปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยกลายเป็นปัญหาวิกฤตที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้เพาะปลูกพืช ผลไม้ในจันทบุรีอย่างใหญ่หลวง พื้นที่ส่วนใหญ่ต้องประสบภาวะน้ำแห้ง ไม่มีน้ำในการทำสวน และช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่กำลังให้ดอกออกผลรอการเก็บเกี่ยวไปขาย ที่จะได้รับเพียงปีละครั้งเท่านั้น

เกษตรกรมักมีคำถามว่า “จะหนักหนาสาหัสมากไปกว่าภาคอื่นๆ หรือพื้นที่อื่นๆ หรือไม่” มากไปกว่าพื้นที่การทำนา หรือทำพืชไร่หรือไม่ ก็คงไม่มากไปกว่ากัน และคงจะให้ความช่วยเหลืออะไรๆ ไม่ได้มากไปกว่าที่จะกระทำได้ตามสภาพหน้างาน

จากข้อมูลในเรื่องของลักษณะสภาพพื้นที่ของจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ ปริมาณน้ำท่า ปริมาณน้ำฝน พื้นที่เพาะปลูกผลไม้ สามารถสรุปได้ว่าพื้นที่เพาะปลูกผลไม้ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่สูงเป็นลูกคลื่น แหล่งน้ำธรรมชาติที่ไหลผ่านจะมีสำหรับใช้เพื่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูฝนเท่านั้น ส่วนในฤดูแล้ง (ช่วงต้นเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคม) ซึ่งเป็นช่วงที่ผลไม้มีความต้องการใช้น้ำมากตั้งแต่ติดดอกจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตจะขาดแคลนน้ำเพราะไม่มีแหล่งต้นทุนมาเติมในลำคลองธรรมชาติสายต่าง ๆ ที่ได้ก่อสร้างฝายทดน้ำไว้แล้ว ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีฝนตกในปริมาณที่เพียงพอ ซึ่งจังหวัดจันทบุรีมีปริมาณฝนตกมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย แต่จะตกในช่วงพฤษภาคม ถึงตุลาคม คิดเป็นร้อยละ 94 ของปริมาณฝนที่ตกตลอดทั้งปี ในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำย่อยในแต่ละลุ่มน้ำจะแยกขาดออกจากกัน ดังนั้นปริมาณน้ำที่สามารถเก็บกักได้ในฤดูฝนรวมทั้งจังหวัดจันทบุรีจึงไม่สามารถที่จะผันไปช่วยลุ่มน้ำข้างเคียงได้

สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งในพื้นที่แต่ละลุ่มน้ำย่อยของจังหวัดจันทบุรีได้อย่างถาวรและยั่งยืนมั่นคง คือการดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับพื้นที่เกษตรในแต่ละลุ่มน้ำ โดยกรมชลประทานมีแนวทางในการพัฒนาแหล่งน้ำย่อยต่างๆ ของจังหวัดจันทบุรี

แต่ปัญหาอุปสรรคที่สำคัญในการพัฒนาแหล่งน้ำของการใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งพื้นที่ที่อยู่ในเขตดังกล่าวปัจจุบันมีสภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว หลายพื้นที่ถูกราษฎรบุกรุกเข้าทำสวนยางและเพาะปลูกพืชไร่ ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการตามขั้นตอนและระเบียบให้มีการปฏิบัติการขอใช้พื้นที่มาโดยตลอด ซึ่งจะเห็นได้ว่าความล่าช้าที่เกิดขึ้นคือการขออนุญาตใช้พื้นที่พัฒนาแหล่งน้ำ นี่นับเป็นปัญหาใหญ่ที่หน่วยงานหรือรัฐบาลต้องเร่งออกมาผลักดันและแก้ไขอย่างจริงจังในขณะนี้ เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐปล่อยให้เกิดปัญหาความล่าช้าซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะปลูกผลไม้เป็นอย่างยิ่ง

จากการเปิดเผยของเกษตรกรในจังหวัดจันทบุรีได้อธิบายว่า คนที่เกิดในพื้นที่สวนผลไม้ทราบดีว่ากว่าผลไม้ต่างๆ เช่น ทุเรียนจะออกดอกให้ผลต้องใช้เวลาประคบประหงมนานถึง 7 ปี หรือมังคุดที่ชาวบ้านบอกว่าต้องปลูกและนับกิ่งให้ครบ 35-40 กิ่งให้ได้ก่อนจึงจะให้ผลนับจำนวนเวลาก็ต้องมีกว่า 7 ปี หรือลำไย ที่แม้จะใช้เวลาปลูกเพียง 3-4 ปีก็สามารถราดสารเพื่อให้ออกดอกออกผลได้ก็ตามแต่ก็ต้องมีน้ำเพียงพอ หรือแม้แต่กล้วยไข่ ที่เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่อีกตัวหนึ่งก็จำเป็นที่จะต้องมีน้ำมากพอในการเพาะปลูกเช่นกัน

ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเกษตรกรผู้เพาะปลูกผลไม้ในจังหวัดจันทบุรีเริ่มได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาภัยแล้งจนส่งผลต่อการผลิต โดยเฉพาะเกษตรกรที่ต้องส่งผลิตผลไปยังผู้บริโภคมะม่วงสายพันธุ์น้ำดอกไม้ของไทยจากประเทศเกาหลีใต้/อังกฤษ ว่าปีนี้มะม่วงลูกเล็กมาก นอกจากสภาพอากาศแล้ว สิ่งสำคัญหลักก็เป็นเพราะขาดน้ำนั่นเอง ชาวสวนปัจจุบันมิได้ต้องการน้ำมาเพื่อทำปริมาณผลผลิตให้ได้มากๆ แต่หากการมีน้ำจะทำให้ไม้ผลเศรษฐกิจดังกล่าวมีคุณภาพดี มีรสชาติเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค

นอกจากนี้ ยังมีเกษตกรสวนผลไม้เริ่มต้องทำใจยอมสละตัดลูกออกไปเพื่อรักษาต้นไว้ก่อน ไม่ยอมตายทั้งแม่และลูก รอปีหน้ามีน้ำค่อยบำรุงดูแลต้นให้กลับมาดีพอก็ยังจะออกดอกออกผลมาให้ได้ขาย แต่ถ้ายืนต้นแห้งตายก็ต้องลงทุนใหม่ไปนานอีก 6-7 ปี แล้วระหว่างนั้นเกษตรกรและชาวสวนจะมีรายได้ตรงไหน โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ

ทั้งนี้ หากในช่วงที่ก่อนจะถึงหน้าฝนนี้ไม่สามารถหาน้ำมาประทังชีวิตต้นไม้ในสวนได้ ก็ต้องยอมปล่อยให้เสียหายตายไป ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่าต้องกัดฟันสู้อีก 6-7 ปีเป็นอย่างน้อย ก็คิดว่าอย่างไรคนสวนก็จะยังสู้ต่ออย่างแน่นอน เพราะยังมีความมั่นใจในตลาดทั้งในและต่างประเทศ เกษตรกรที่ปลูกพืชผลไม้ในจังหวัดจันทบุรีก็ยังจะสู้ต่อไปเหมือนกับเพื่อนร่วมประเทศในสายอาชีพเกษตรอื่นๆ ที่ประสบภัยเช่นกัน แต่เมื่อเราจะสู้ใหม่ แล้วเราจะมีแหล่งน้ำให้เป็นความมั่นใจกับเราหรือไม่ ไม่ใช่แค่ความมั่นใจ ถ้าไม่มีน้ำก็ไม่สามารถประกอบอาชีพเกษตรได้เลย และถ้าไม่มีน้ำชาวสวนจะต้องหาอาชีพใหม่ที่ทั้งชีวิตไม่ถนัด จะหันไปทำอาชีพใดแทน และเงินตราที่ได้จากไม้ผลเศรษฐกิจจะส่งผลให้ขาดรายได้หายไปมากน้อยแค่ไหน การแปรรูปเพิ่มมูลค่าอาหารในภาคอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับและชื่นชอบในนานาประเทศจะเสียหายต่อเนื่องหรือไม่ ต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น รัฐบาลและหน่วยงานรัฐต้องบวกลบคูณหารให้ดีว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ความเสียหายในส่วนของราคาผลไม้ตกต่ำ 10 ครั้ง ไม่เท่าภาวะภัยแล้ง 1 ครั้ง ความเสียหายจากภาวะภัยแล้ง 10 ครั้ง ไม่เท่าการขอแหล่งน้ำไม่ได้เลยสักครั้ง เกษตรกรผู้เพาะปลูกผลไม้กำลังรอความช่วงเหลือจากหน่วยงานอย่างกรมป่าไม้ ที่จะเป็นผู้ชุบชีวิตให้ผู้ปลูกผลไม้ลืมหูลืมตาขึ้นมาได้ ไม่เช่นนั้นปัญหาในอนาคตจะไม่มีผลไม้ให้บริโภค หรือต้องใช้เวลานานอย่างน้อยถึง 7 ปีกว่าจะเห็นดอกเห็นผล

นางพจนา กิจกาญจน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยถึงปัญหาว่า ในรอบหลาย 10 ปีนับว่าภัยแล้งปีนี้มีความรุนแรง พื้นที่เพาะปลูกผลไม้พบปัญหาหนัก เกษตรกรต้องดิ้นรนแก้ปัญหาเอง และร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกร และเข้าใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้หากรัฐไม่เข้ามาแก้ไขอย่างจริงจังความเสียหายที่เกิดขึ้นจะทำให้เกษตรกรในจังหวัดจันทบุรีต้องลากยาวไปถึง 7 ปีกว่าจะมีผลไม้ให้บริโภคกันใหม่ เพราะต้องใช้เวลาในการเพาะปลูก

“อยากเรียกร้องหน่วยงานอย่างกรมป่าไม้เดินหน้าและตัดสินใจเพื่อช่วยแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง หากเร่งสร้างและพิจารณาเรื่องการสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นมาก็สามารถช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งได้แน่ และยังลดต้นทุนการผลิตของชาวสวนผลไม้ได้อย่างแน่นอนและยั่งยืน”
กำลังโหลดความคิดเห็น