xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรอ่วม! ต้องซื้อน้ำรดไร่อ้อยทำต้นทุนเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอุทัย  ใจธรรม  อายุ 30 ปี เกษตรกรชาวไร่อ้อยใน จ.กาฬสินธุ์ ลงทุนซื้อถังบรรจุน้ำบรรทุกน้ำมาราดรดให้ความชุ่มชื้น รวมทั้งซื้อพันธุ์อ้อยทำการปลูกซ่อมแซมต้นอ้อยที่ตายแล้ง ทำให้การปลูกอ้อยปีนี้เพิ่มทุนการผลิตสูงขึ้น และเสี่ยงต่อการขาดทุน เพราะภัยแล้งรุนแรงมาก
กาฬสินธุ์ - สภาพอากาศที่ร้อนและแล้งจัดที่จังหวัดกาฬสินธุ์ทำให้แหล่งน้ำบนดิน-ใต้ดินแห้งขอด พืชผลทางการเกษตรเริ่มขาดน้ำแห้งตาย พืชทนแล้งอย่างอ้อยทยอยเหี่ยวตายหลายร้อยไร่ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยต้องบรรทุกน้ำไปราดรดเพื่อให้ความชุ่มชื้นและทำการเพาะปลูกใหม่ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

จากการติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ พบว่าได้ส่งผลกระทบรอบด้านต่อประชาชน ทั้งภาวการณ์ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และพืชผลขาดน้ำแห้งตาย เนื่องจากแหล่งน้ำทั้งบนดินและใต้ดินแห้งขอดหมด ทั้งนี้ ทางจังหวัดฯ โดยนายวินัย วิทยานุกูล ผวจ.กาฬสินธุ์ และกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ ได้ปล่อยคาราวานแจกจ่ายน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม พบว่าวิกฤตภัยแล้งที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบถึงพืชผลทางการเกษตรที่เริ่มขาดน้ำแห้งตายได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง

นายอุทัย ใจธรรม อายุ 30 ปี เกษตรกรชาวไร่อ้อย บ้านเลขที่ 94 หมู่ 9 ต.ห้วยเม็ก อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ฤดูแล้งปีนี้นับเป็นวิกฤตแล้งรุนแรงมาก ทำให้ไร่อ้อยอายุ 3 เดือนที่ปลูกไว้ 5 ไร่ขาดน้ำและเริ่มทยอยตายลงเรื่อยๆ เพื่อลดความสูญเสียจึงได้ลงทุนซื้อทั้งถังบรรจุน้ำ แล้วบรรทุกน้ำมาราดรดให้ความชุ่มชื้น รวมทั้งซื้อพันธุ์อ้อยทำการปลูกซ่อมแซมต้นอ้อยที่ตายไป

โดยน้ำที่ซื้อมารดอ้อยบรรจุถัง 2,000 ลิตร ราคา 200 บาท ทำให้การปลูกอ้อยปีนี้เพิ่มทุนการผลิตสูงขึ้น และเสี่ยงต่อการขาดทุนเป็นอย่างมาก แต่จำเป็นต้องทำเพราะเป็นอาชีพ

สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาว ขณะนี้มีปริมาณทั้งหมดที่ 474 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 24 ระดับน้ำใช้การได้ที่ 374 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 19 จากความจุอ่างที่ 1,890 ล้าน ลบ.ม. โดยเขื่อนลำปาวได้ระบายน้ำเฉลี่ยวันละ 5 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน



กำลังโหลดความคิดเห็น