xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤต! สองอำเภอเมืองหมูย่างกระทบภัยแล้ง คลองหลักน้ำแห้งขอดจนผลิตประปาไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - อำเภอกันตัง และอำเภอสิเกา ของจังหวัดตรัง กำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้ง เนื่องจากคลองหลักน้ำแห้งขอดจนผลิตประปาไม่ได้ ต้องแก้ปัญหาด้วยการจ่ายน้ำเป็นเวลา วันละ 2 รอบ

วันนี้ (7 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งให้เฝ้าระวังพื้นที่ใกล้วิกฤตภัยแล้งทั่วประเทศ โดยเฉพาะน้ำประปาส่วนภูมิภาค เนื่องจากบางพื้นที่จำเป็นต้องจ่ายน้ำเป็นเวลา หรือต้องแบ่งโซนจ่ายน้ำ ซึ่ง 1 ในนั้นก็คือ การประปาส่วนภูมิภาคสาขากันตัง จังหวัดตรัง เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำอย่างมากในช่วงหน้าแล้งของปีนี้นั้น

นางกัญญา กันตะปีติ ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค สาขากันตัง กล่าวว่า การประปาส่วนภูมิภาค สาขากันตัง รับผิดชอบบริการจ่ายน้ำให้แก่ประชาชนในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อำเภอกันตัง และอำเภอสิเกา รวมจำนวน 10,687 ราย แต่หลังจากที่ในจังหวัดตรังเกิดฝนตกทิ้งช่วงมายาวนานหลายเดือนส่งผลให้ปริมาณน้ำดิบในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยเฉพาะในคลองหลัก หมู่ที่ 4 ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา ประสบต่อสภาวะแห้งสนิท แม้จะมีการขุดลอกไปแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ก็ยังไม่สำเร็จ ทำให้ประชาชนผู้ใช้น้ำกว่า 80% หรือจำนวน 8,750 ราย ได้รับผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง
 

 
อย่างไรก็ตาม การประปาส่วนภูมิภาค สาขากันตัง ได้แก้ปัญหาด้วยการเพิ่มท่อประปา และขอใช้น้ำจากสถานีผลิตน้ำควนกุน อำเภอวังวิเศษ แม้จะมีระยะห่างกันเกือบ 40 กม.ก็ตาม เพื่อนำน้ำมาจ่ายให้แก่ประชาชนผู้ใช้น้ำ เป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อน พร้อมทั้งจำเป็นต้องจ่ายน้ำจากเดิมวันละ 24 ชม. เป็นวันละ 2 รอบ คือ รอบเช้า 06.00-10.00 น. และรอบเย็น เวลา 16.00-20.00 น. แต่ด้วยระยะทางที่ไกลจึงทำให้ความแรงของน้ำปลายทางลดลงมาก ก็ขอให้ประชาชนผู้ใช้น้ำได้เข้าใจด้วย

สำหรับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำระยะยาวนั้น การประปาส่วนภูมิภาค สาขากันตัง ได้รับงบประมาณมาแล้ว 19 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงระบบส่งน้ำ และขยายเส้นทางการจ่ายน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างหาผู้รับเหมา คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2559 นี้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้รุนแรงปีก่อนกว่ามาก เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำตรัง ล่าสุด วัดได้แค่ 2.4 เมตร ขณะที่ปีก่อนต่ำสุดวัดได้ถึง 3 เมตร ซึ่งหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อผลิตน้ำประปาคงจะขาดแคลน และมีผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้น้ำมากขึ้นอย่างแน่นอน
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น