ผู้จัดการรายวัน 360 - “ซาโลร่า” เผยตลาดอี-คอมเมิร์ซในไทยยังเติบโตได้อีกมาก คาดปี 2561 มูลค่าตลาดรวมอาจจะทะลุถึง 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมชู 4 กลยุทธ์รุกตลาดต่อเนื่อง ด้าน Kaidee (ขายดี) ซื้อ-ขายสินค้ามือสองออนไลน์เผยมีผู้ขายที่เข้ามาประกาศขายสินค้าในระบบเติบโตขึ้นมากถึง 1 ล้านยูนิคเซลเลอร์เมื่อปีที่แล้ว คาดปี 2559 ยอดผู้ขายจะเพิ่ม 100% ด้าน “ลาซาด้า” ประกาศยอดตัวเลขนักช้อปออนไลน์กว่า 1.3 แสนคนเลือกช้อปบนแพลตฟอร์มของ “ลาซาด้า” ในช่วงแคมเปญ “Birthday Sale”
นายอาลี แฟนซี ประธานเจ้าที่บริหาร บริษัท ซาโลร่า ประเทศไทย จำกัด ผู้ประกอบการแฟชั่นชอปปิงออนไลน์รายใหญ่ เปิดเผยว่า ตลาดอี-คอมเมิร์ซประเทศไทยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมามีมูลค่าเพียง 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น แต่ก็มีการเติบโตอย่างรวดเร็วเพราะความนิยมมีมากขึ้น ประกอบกับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและระบบสาธารณูประโภคด้านไอทีที่พร้อมสมบูรณ์มากขึ้น ทำให้คาดว่าในปี 2561 ตลาดจะเติบโตเป็นมูลค่ามากกว่า 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเติบโต 26% มากกว่าตลาดอี-คอมเมิร์ซในประเทศสิงคโปร์ที่คาดว่าจะเติบโตเพียง 11% เท่านั้น
การเติบโตดังกล่าวเป็นผลมาจากพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่ซื้อของตามร้านค้าและห้างค้าปลีกต่างๆ กลับหันมานิยมชอปปิ้งผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพราะมีความสะดวกและสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่นี้ที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น โดยประมาณกันว่าคนไทยมากกว่า 26 ล้านคนมีการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านทางมือถือ โดยที่มี 75% เป็นระบบ 3G และ 4G ส่วนจำนวนผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านทางคอมพิวเตอร์และแล็ปท็อปมีเพียง 17% โดยคนไทยมีการใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นกว่า 54% หรือประมาณ 5.5 ชั่วโมงต่อคนต่อวัน
“ประเทศไทยยังเป็นตลาดที่มีโอกาสในการพัฒนาธุรกิจอี-คอมเมิร์ซอีกมาก เพราะแม้ว่ามูลค่าตลาดออนไลน์จะมีมาก แต่หากเทียบเป็นสัดส่วนของการใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว การซื้อขายผ่านชอปปิ้งออนไลน์ยังคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.6% เท่านั้นและยังต่ำกว่าอีกหลายประเทศด้วย เช่น ในยุโรปมีสัดส่วน 7.22% ขณะที่สหรัฐอเมริกามีสัดส่วนมากถึง 5.7% หรือแม้แต่เพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียมีสัดส่วน 1.20% และฟิลิปปินส์สัดส่วน 0.30%
*** ย้ำภาพ “ซาโลร่าไทย” ดาวรุ่ง ***
นายอาลี ย้ำว่า ปัจจุบันในเครือ “ซาโลร่า” ทั้งหมดแล้วถือได้ว่า ประเทศไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากแห่งหนึ่งในอนาคต แม้ว่าทุกวันนี้จะก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำในตลาดชอปปิ้งออนไลน์ในประเทศไทยแล้วก็ตาม แต่ยังไม่ได้เป็นผู้นำเครือข่าย “ซาโลร่า” ใน 8 ประเทศซึ่งมีรายได้รวมประมาณ 146 ล้านยูโร โดยอันดับแรกคือ อินโดนีเซียเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในแง่ของมูลค่าการซื้อขาย รองลงมาคือสิงค์โปร์ และมาเลเซียที่อยู่อันดับใกล้เคียงกัน ถัดมาคือฟิลิปปินส์ ส่วนอีก 4 ประเทศที่เหลืออยู่ระดับเดียวกันคือ ไทย เวียดนาม ฮ่องกง และไต้หวัน
สำหรับแผนตลาดของบริษัทฯ จากนี้จะยังคงเดินหน้าต่อเนื่องด้วย 4 กลยุทธ์หลักคือ 1.ความสามารถในการเข้าถึงผู้บริโภคให้มากขึ้น โดยช่วง 4 ปีที่ผ่านมาได้ลงทุนด้านระบบลอจิสติกส์และไอที อีกทั้งมีการขยายช่องทางการทำตลาด ทำให้เวลานี้สามารถครอบคลุมได้ทั่วประเทศแล้ว โดยสัดส่วนลูกค้าต่างจังหวัดเพิ่มเป็น 60% และกรุงเทพฯ 40%
2.การเชื่อมต่อการชอปปิ้งเข้าด้วยกันทั้งโนโลกออนไลน์และออฟไลน์อย่างสมบูรณ์ ด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรรายย่อยๆ นำสินค้ามาจำหน่ายในเว็บไซต์ซาโลร่า และมีการทำมาร์เกตเพลซซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมหาสถานที่จำหน่ายสินค้าให้กับพันธมิตรรายย่อย
3.รูปแบบ หรือแพลตฟอร์มที่กว้างขึ้น จากข้อมูลวิจัยของ “มาสเตอร์การ์ด” พบว่า การนิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพราะมีความสะดวกมากถึง 49% โดยปัจจุบันลูกค้าสามารถเข้าถึงระบบได้ทั้งไอโอเอสและแอนดรอยด์ โดยปีที่แล้วมีผู้โหลดแอปฯ “ซาโลร่ามากกว่า 10 ล้านครั้ง และมีลูกค้ากว่า 80% ซื้อผ่านโทรศัพท์มือถือเติบโต 250% โดยมีเพียง 20% ที่ซื้อผ่านทางแล็ปท็อปและคอมพิวเตอร์พีซี
4.การเพิ่มคู่ค้าและสินค้า ในเว็บไซต์ซาโลร่ามีสินค้าที่หลากหลาย ทั้งสินค้าอินเตอร์แบรนด์ สินค้าโลคัลแบรนด์ และสินค้าที่เราออกแบบละผลิตเองที่เป็นทางเลือกใหม่ให้ผู้ซื้อ โดยรวมแล้วจนถึงขณะนี้ “ซาโลร่า” มีสินค้าจำหน่ายมากกว่า 6 พันแบรนด์และสินค้ามีปริมาณมากกว่า 8 หมื่นเอสเคยู
“การจับจ่ายของผู้บริโภคไทยที่ผ่านมามีอัตราการซื้อสินค้าเฉลี่ย 1.3-2 พันบาทต่อคนต่อครั้ง โดยผู้ชายจะซื้อสินค้าครั้งละมูลค่ามากๆ แต่ความถี่ในการซื้อน้อยนานๆ ครั้ง ส่วนผู้หญิงจะซื้อบ่อยแต่มูลค่าซื้อต่อครั้งต่ำกว่าผู้ชาย โดยสินค้าที่ขายดีที่สุดคือ กลุ่มเสื้อผ้าเติบโต 2 เท่า และกลุ่มกีฬากับความงามเติบโต 2 เท่า” นายอาลี กล่าวในตอนท้าย
*** Kaidee คาดผู้ขายเพิ่ม 100% ***
นายทิวา ยอร์ค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Kaidee เปิดเผยว่า ในปี 2559 การซื้อ-ขายผ่านช่องทางออนไลน์จะเติบโตและคึกคักมากยิ่งกว่าที่ผ่านมา เพราะการเติบโตของอินเทอร์เน็ตที่มากขึ้นทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงช่องทางการซื้อ-ขายได้ง่ายขึ้น โดย Kaidee ยังจะมุ่งเน้นในการชักชวนให้คนไทยหันมาให้ความสนใจและลองขายของที่ไม่ได้ใช้ให้มากขึ้นผ่านช่องทางการตลาดต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงคนไทยได้มากที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องจากการซื้อ-ขายของที่ไม่ได้ใช้งานเป็นการกระตุ้นให้มีการไหลเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจได้อีกช่องทางหนึ่ง โดยคาดว่าในปีนี้เราจะมียอดการเติบโตของผู้ขายอีก 100% จากปีที่ผ่านมา
สำหรับปี 2558 ผลประกอบการเป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ ทำให้เห็นว่าคนไทยเห็นความสำคัญและหันมาให้ความสนใจในการขายของมือสองเพิ่มมากขึ้น โดยมียอดผู้ขายรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านยูนิคเซลเลอร์ มีสินค้าที่ประกาศขายมากถึง 8.6 ล้านประกาศ เฉลี่ยแล้วในทุกๆ 4 วินาทีจะมีผู้ใช้งานเข้ามาโพสต์ประกาศใหม่ 1 ประกาศในระบบ โดยแต่ละวันมีผู้เข้ามาเยี่ยมชมตลาด 6.5 แสนยูนิควิสิทเตอร์ และมีการเยี่ยมชมมากถึง 40 ล้านเพจวิวต่อวัน ส่วนยอดการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Kaideeไปใช้งานก็เพิ่มขึ้นถึง 92%
นอกจากนั้น Kaidee ยังได้เปิดให้บริการพิเศษ “เลื่อนประกาศ” เป็นบริการแรกนำร่องที่เปิดตัวไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีช่องทางการชำระเงินผ่านเอสเอ็มเอส หรือจะชำระผ่านไข่ Kaidee Egg (ขายดี เอ้ก) ที่ผู้ใช้งานสามารถใช้บัตรเครดิตและบัตรเดบิตจ่ายเงินเพื่อซื้อบนระบบของเราได้เลย โดยปีนี้จะเพิ่มช่องทางการจ่ายเงินให้สามารถซื้อผ่านแอปฯ Kaidee ได้ทั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และไอโอเอส เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถซื้อสะดวกมากขึ้น
จากผลงานวิจัยของ บริษัท ทีเอ็นเอส รีเสิร์ช อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งทำการสำรวจสิ่งของเหลือใช้ในบ้านคนไทย พบของสภาพดีที่ยังสามารถใช้งานได้ แต่กลับถูกทิ้งไว้ในบ้านโดยไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านบาท จากผลการสำรวจพบว่าทุกครัวเรือนมีของเหลือใช้ที่ยังอยู่ในสภาพดีและสามารถใช้งานได้ เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและเครื่องประดับ ยานพาหนะและสินค้ายานยนต์ เครื่องใช้ในบ้าน และของสะสมต่าง ๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ สามารถแบ่งกลุ่มสิ่งของที่ทำการสำรวจออกเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ กล้องถ่ายรูป เครื่องเสียง และเครื่องเล่นวิดีโอ 2.กลุ่มแฟชั่น เช่น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เครื่องประดับ 3.ยานพาหนะและอุปกรณ์ตกแต่ง 4.เครื่องครัวและเครื่องใช้ภายในบ้าน เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน และ 5.ของสะสม-ศิลปะและบันเทิง เช่น เครื่องดนตรี ซีดี/ดีวีดี จักรยาน หนังสือ นิตยสาร อุปกรณ์กีฬา
“เมื่อนำมูลค่าของสิ่งของที่กลุ่มตัวอย่างไม่ได้ใช้แล้วแต่ยังอยู่ในสภาพดีและสามารถใช้งานได้ทั้งหมดมารวมกัน สามารถจำแนกมูลค่าได้ดังนี้ โทรศัพท์มือถือมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท เครื่องเสียงและเครื่องเล่นวิดีทัศน์ 263.2 ล้านบาท เครื่องครัว 202.6 ล้านบาท เครื่องใช้ในบ้าน 268.5 ล้านบาท เฟอร์นิเจอร์ 127.2 ล้านบาท กระเป๋า 114.8 ล้านบาท รองเท้า 205.6 ล้านบาท เสื้อผ้า 285.9 ล้านบาท ซีดี/วีซีดี/ดีวีดี 26.6 ล้านบาท หนังสือและนิตยสาร 58.5 ล้านบาท เป็นต้น” นายทิวา กล่าว
จากการสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เลือกจะนำของที่ไม่ใช้แล้วไปบริจาค หรือทิ้งมากกว่าจะนำไปขาย โดยมีความตั้งใจที่จะขายอยู่เพียง 40% เท่านั้น โดยสินค้าที่กลุ่มตัวอย่างรู้สึกสะดวกในการขายออนไลน์ ได้แก่ กลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 66% รองลงมาคือกลุ่มสินค้าแฟชั่น 53% และยานพาหนะและของตกแต่ง 29% ตามลำดับ โดยหากแบ่งย่อยโดยระบุตัวสินค้าพบว่า มากที่สุดคือโทรศัพท์มือถือ 53% เสื้อผ้า 47% คอมพิวเตอร์/แล็บท็อป/แท็บเล็ต 39% และ รองเท้า 32%
*** “ลาซาด้า” ชี้สินค้าเด็กอ่อนพุ่ง ***
นายอเล็กแซนดรอ บิสชินี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ตลอด 4 ปี ของการดำเนินธุรกิจลาซาด้าในประเทศไทย เราได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ของคนไทย โดยผู้บริโภคนิยมซื้อของออนไลน์กันมากขึ้นด้วยความสะดวกสบายง่ายดายในการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ลาซาด้า
“สำหรับปีนี้กลุ่มลูกค้าของเราจะได้ระบบความปลอดภัยที่ดีขึ้น โดยมีตัวเลือกเพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระเงินมากยิ่งขึ้น หลากหลายวิธีการจัดส่งสินค้าเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกเวลาจัดส่งได้ รวมถึงรูปแบบเว็บไซต์ใหม่ที่จะช่วยเพิ่มความง่ายดายในการค้นหาสินค้ามากยิ่งขึ้น”
นายอเล็กแซนดรอ ยังกล่าวถึงแคมเปญ “Birthday Sale” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15-18 มีนาคมที่ผ่านมาว่า สินค้าหมวดสุขภาพและความงามได้ทำสถิติใหม่เป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยมจากนักช้อปสูงสุดเป็นครั้งแรก โดยหมวดที่ได้รับความนิยมรองลงมา ได้แก่ หมวดเครื่องใช้และของตกแต่งบ้าน และหมวดโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต ตามลำดับ
“สถิตินี้สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ของคนไทยจากเดิมที่หมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้ายอดนิยมที่สุด แต่ในปัจจุบันผู้ซื้อเริ่มซื้อสินค้าที่หลากหลาย รวมถึงกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ทางช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น”
นอกจากนี้ เทรนด์การซื้อสินค้าจากกลุ่มผู้ใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มพ่อแม่ยังมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน โดย “ลาซาด้า” พบว่า จำนวนการซื้อสินค้าออนไลน์สำหรับเด็กอ่อนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าสนใจ เช่น ในระยะเวลา 4 วันที่จัดแคมเปญมีออเดอร์การสั่งซื้อผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับเด็กสูงถึงนาทีละหนึ่งแพ็กเลยทีเดียว โดยก่อนหน้านี้ “ลาซาด้า” ได้เพิ่มหมวดสินค้าเกมและของเล่นเพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มพ่อแม่ยุคไอทีที่ใส่ใจพัฒนาการของลูกน้อย