รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของไทย ร่วมหารือแบบทวิภาคีกับรัฐมนตรีด้านพลังงานของมาเลเซีย และ สปป.ลาว โดยการหารือร่วมกับมาเลเซียมีข้อสรุปว่าจะเพิ่มความร่วมมือด้านพลังงานทดแทนระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะด้านไบโอแมส และพลังงานจากแสงอาทิตย์ ในขณะที่ สปป.ลาว เสนอขายไฟฟ้าไทยเพิ่มผ่านระบบสายส่ง
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงการเจรจาทวิภาคี ภายในงานการประชุมและนิทรรศการนานาชาติพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2559 (SETA 2016) ระหว่าง พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีพลังงานของไทย และ Dr. Maximus Johnity Ongkili Minister of Energy, Green Technology and Water ของมาเลเซีย ว่า รัฐมนตรีทั้งสองประเทศได้หารือกันถึงความร่วมมือที่จะส่งเสริมพลังงานทดแทนให้มากยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของไบโอแมส และพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ทางมาเลเซียมีนโยบายที่จะสนับสนุน รวมทั้งการเชื่อมโยงระบบสายส่งและแลกเปลี่ยนไฟฟ้าที่มากขึ้นของทั้งสองประเทศในอนาคตด้วย พร้อมกับชื่นชมไทยที่จัดงานดังกล่าว
สำหรับในการหารือทวิภาคระหว่างรัฐมนตรีพลังงานของไทย กับนายวีระพน วีระวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ของ สปป.ลาว นั้น ทางฝ่ายลาวเสนอที่จะให้ไทยรับซื้อจากลาวในลักษณะผ่านระบบสายส่งที่เชื่อมต่อกัน (Grid to Grid) เนื่องจาก สปป.มีโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กจำนวนมากที่ยังมีไฟฟ้าเหลือที่จะส่งขายให้แก่ไทย จากเดิมที่การซื้อขายไฟฟ้ากับ สปป.ลาวนั้นเป็นแบบทำสัญญาซื้อโดยตรงไปที่โครงการโรงไฟฟ้า ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้เสนอให้ทาง สปป.ลาวได้มีการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้าให้มีคุณภาพและมาตรฐานเดียวกันกับไทยเสียก่อน
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานเซต้า 2016 ว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว 21 ปี พ.ศ. 2558-2579 หรือ PDP2015 ที่จะลดการพึ่งพาการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า และเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและพลังงานทดแทน อย่างไรก็ตาม ถ่านหินยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่เนื่องจากประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ยังมีความกังวลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ต้องการให้มีการก่อสร้าง แต่ทางกระทรวงพลังงานยืนยันว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินมีความจำเป็นสำหรับประเทศไทย และประเทศในเอเชียอีกหลายประเทศ เนื่องจากเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ประชาชนยังมีรายได้ต่ำโดยเฉลี่ย จึงมีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าที่ต้นทุนการผลิตไม่สูงจนเกินไป
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังดำเนินการตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อลดการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซ และหันมาใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวมวล เพิ่มมากขึ้น โดยสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้แล้ว 2,000 เมกะวัตต์ และจากพลังงานชีวมวลอีก 2,000 เมกะวัตต์ และมีเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตให้มากขึ้นในอนาคต นอกจากนั้น ไทยยังดำเนินการโครงการซื้อและแลกเปลี่ยนไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีการรับซื้อไฟจากลาว และแลกเปลี่ยนไฟฟ้ากับมาเลเซียแล้ว และกำลังจะมีโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพม่า และกัมพูชาในเร็ววันนี้