xs
xsm
sm
md
lg

12 อบต.ยื่นรัฐทบทวนมติปิดโอกาสยื่นโซลาร์ราชการฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


12 อบต.ตบเท้ายื่นหนังสือถึง “กกพ.” วอนรัฐเปิดทางให้เข้าร่วมโครงการโซลาร์ฟาร์มราชการและสหกรณ์ได้หลังคณะกรรมการกระจายอำนาจระบุไม่มีภารกิจผลิตไฟและขัด พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ทั้งที่ อบต.ไม่ได้ลงทุนแต่กลับจะมีรายได้เพิ่ม 2-3 หมื่นบาทต่อเดือน

นายกิติศักดิ์ สุวรรณภัณธุ์โสภา นิติกร เทศบาลตำบลห้วยทราย อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า วันนี้ (22 มี.ค.) 8 องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จ.เชียงใหม่ และ 4 อบต.จ.ลำพูน ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อขอให้ทบทวนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการกระจายอำนาจที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานที่ออกคำสั่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด โดยระบุว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) ส่วนราชการ และสหกรณ์การเกษตรได้ เนื่องจาก อบต.ไม่มีภารกิจด้านไฟฟ้า และยังขัดต่อ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พีพีพี)

“เราเห็นว่าไม่เป็นธรรม เพราะข้อเท็จจริงทาง อบต.ไม่ได้เข้าร่วมทุนแต่อย่างใด เป็นการให้เอกชนที่สนับสนุนมาเช่าพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าซึ่งสามารถสร้างรายได้ 2-3 หมื่นบาทต่อเดือน เป็นเวลา 25 ปี นอกจากนี้ยังมีรายได้ภาษีท้องถิ่น รวมทั้งยังมีเงินกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้ามาพัฒนาพื้นที่ และเมื่อครบสัญญา 25 ปี พื้นที่และสิ่งก่อสร้างก็จะตกเป็น อบต. ดังนั้นจะเห็นว่าโครงการนี้เกิดประโยชน์ท้องถิ่นจึงขอเรียกร้องให้ทั้งกระทรวงมหาดไทย และ กกพ.อนุมัติให้ อบต.สามารถเข้าร่วมโครงการได้” นายกิติศักดิ์กล่าว

นายวีระพล จิรประดิษฐ์กุล กรรมการ กกพ.กล่าวว่า กกพ.ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังหัวหน้าหน่วยราชการต่างๆ เช่น รมต.มหาดไทย และกระทรวงกลาโหมว่าจะอนุมัติให้ อบต.เข้าร่วมได้หรือไม่หลังจากที่คณะกรรมการ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯมีมติให้โครงการนี้ไม่ขัด แต่ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของหน่วยงานนั้นๆ ว่าเข้าร่วมได้หรือไม่ ขณะนี้ยังไม่ได้รับคำตอบ

“กกพ.ก็รอคำตอบอยู่ แต่หากไม่ได้รับคำตอบภายในเดือนนี้ ทางนิติกร กกพ.ก็จะวินิจฉัยว่าจะสามารถร่วมทุนได้หรือไม่” นายวีระพลกล่าว

นอกจากนี้ยังต้องรอหนังสือเวียนมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ล่าสุดอย่างเป็นทางการในเรื่องการปลดล็อกผังเมือง หากได้มติอย่างเป็นทางการเดือนนี้ขั้นตอนทั้งหมดก็จะสามารถจับสลากโซลาร์ฟาร์มราชการฯ ล็อตแรก 600 เมกะวัตต์ได้ภายในเดือนเมษายน 2559
กำลังโหลดความคิดเห็น