xs
xsm
sm
md
lg

“อาคม” สั่งแอร์พอร์ตลิงก์ยกเครื่องแผนฉุกเฉิน กำชับทุกระบบขนส่งตรวจอุปกรณ์-ระบบไฟสำรอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“อาคม” สั่งเข้มแผนช่วยเหลือผู้โดยสารต้องฝึกซ้อมถี่ขึ้น ย้ำทุกระบบขนส่งต้องตรวจอุปกรณ์ และระบบไฟสำรองให้พร้อมใช้งาน พร้อมสั่ง ร.ฟ.ท.เร่งพิจารณางบซื้อระบบไฟสำรอง และปรับปรุงรถด่วน 4 ขบวนให้แอร์พอร์ตลิงก์

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กรณีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ได้เกิดปัญหาต้องหยุดให้บริการเนื่องจากระบบจ่ายไฟขัดข้องที่สถานีรามคำแหงทำให้รถไฟฟ้าล่าช้าทั้งระบบนั้นเป็นประเด็นเทคนิคในเรื่องระบบไฟสำรอง ซึ่งที่ผ่านมาเคยเกิดไฟตกแต่ก็กลับมาได้ ซึ่งกรณีสถานีต้นทางและปลายทาง 2 แห่งไม่จ่ายไฟ ส่วนระบบไฟสำรองไม่ทำงานถือเป็นข้อบกพร่องที่ได้สั่งการไปแล้วว่าต้องปรับแก้ระบบไฟสำรองต้องพร้อมใช้งาน กรณีไฟดับทั้งหมดระบบไฟสำรองจะต้องทำงานเพื่อป้อนไฟเข้าสู่ขบวนรถและอีกส่วนจะป้อนเข้าภายในขบวนรถเพื่อให้มีพลังงานสำหรับไฟแสงสว่าง ระบบระบายอากาศ ระบบปรับอากาศ ต้องทำงานได้ในระหว่างที่รอระบบชาร์จไฟ

ทั้งนี้ แอร์พอร์ตลิงก์ต้องส่งแผนช่วยเหลือ แผนเผชิญเหตุในทุกกรณี จะต้องมีการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอทุกกรณี ทุกสถานการณ์ และตรวจสอบสภาพอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมใช้งาน ซึ่งกรณีไฟสำรองไม่ทำงานเพราะเสื่อมสภาพ ได้สั่งการไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) แล้วให้เร่งพิจารณางบเพื่อจัดซื้อรวมถึงงบประมาณในการปรับเปลี่ยนสภาพรถด่วน (Express Line) 4 ขบวน โดยติดตั้งที่นั่งเพิ่มเพื่อให้ใช้งานได้เหมือนรถธรรมดา (City Line) วงเงินประมาณ 24 ล้านบาท และทบทวนเรื่องอุปกรณ์เสื่อมสภาพต่างๆ ต้องรับพิจารณาเนื่องจากแอร์พอร์ตลิงก์ยังใช้งบประมาณของ ร.ฟ.ท.ในการจัดซื้อจัดหาอยู่

นายอาคมกล่าวว่า เรื่องการเผชิญเหตุและการช่วยเหลือผู้โดยสารนั้นได้สั่งการไปตั้งแต่ครั้งเกิดเหตุรถไฟฟ้า BTS ขัดข้องให้ทุกหน่วยที่ให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า MRT โดยบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จัดทำเสนอมาภายใน 1 เดือนแล้ว ซึ่งจะต้องนำมาบูรณาการร่วมกัน เพราะระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ มีทั้งของเอกชน และของหน่วยงานรัฐ และในประเด็นเรื่องการทำงานของระบบไฟสำรองนั้น ได้สั่งการครอบคลุมไปถึงสนามบินและระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ BTS, MRTและรถไฟ ให้สำรวจความพร้อมใช้งานของระบบไฟสำรองและอุปกรณ์ต่างๆ

โดยแต่ละระบบมีหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่ง กทม.จะกำกับดูแล BTS ต้องดูในชั้นต้นก่อน ดังนั้นเมื่อตอนเกิดเหตุจะต้องดูมาตรฐานบริการหรือกรณีเกิดเหตุจะต้องแก้ไขอย่างไร ภายในเวลาเท่าไร ส่วนกระทรวงคมนาคมจะเป็นส่วนกลางดูแลขนส่งสาธารณะทุกระบบอยู่แล้ว กรณีไฟสำรองของแอร์พอร์ตลิงก์ เมื่อเกิดเหตุจะต้องขึ้นมาภายในกี่นาที การให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นต้องภายในกี่นาที รวมถึงอุปกรณ์สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินต้องพร้อม เป็นต้น

“นอกจากเร่งรัดการจัดหาอุปกรณ์แล้ว ในระหว่างนี้จะต้องตรวจสอบสภาพเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไม่ให้เกิดขึ้น ส่วนผลกระทบต่อผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการนั้น สิ่งสำคัญคือต้องซ้อมแผนฉุกเฉินในการจัดการผู้โดยสารให้ปลอดภัย เพราะเท่าที่รับทราบไม่มีการแนะนำ” นายอาคมกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น