“กฟน.” ทุ่มเงิน 4.87 หมื่นล้านบาท เปลี่ยนสายไฟฟ้าลงใต้ดินรวม 7 โครงการ ระยะทาง 127.3 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาดำเนินงาน 10 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2568
นายนิพนธ์ จิรทวีวุฒิ ผู้ช่วยว่าการการไฟฟ้านครหลวงกฟน(กฟน.) เปิดเผยว่า กฟน.มีแผนที่จะเปลี่ยนระบบจำหน่ายไฟฟ้าจากระบบสายอากาศเป็นระบบสายใต้ดิน เพิ่มเติมระยะที่ 1 ที่จะดำเนินการประกอบด้วย 7 โครงการ ระยะทางรวม 127.3 กิโลเมตร เวลาดำเนินการ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2568 วงเงินลงทุนรวม 48,717 ล้านบาท เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียนตามนโยบายของรัฐบาล โดย กฟน.จะเริ่มดำเนินการในปีนี้ก่อน 3 โครงการ และที่เหลือจะเริ่มดำเนินการในช่วงต่อไป
สำหรับโครงการที่ดำเนินการในปีนี้ 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการสามเสน-รอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เริ่มดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าร่วมกับงานของโครงการการประปานครหลวง (กปน.) บริเวณโดยรอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐานคาดว่าจะเสร็จสิ้นในปี 2562 รวมระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี
โครงการเทพารักษ์-สุขุมวิท ดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่เริ่มต้นจากอ่อนนุช-แบริ่ง และแบริ่ง-สมุทรปราการ คาดว่าจะเสร็จสิ้นในปี 2564 รวมระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี และโครงการวงเวียนใหญ่-อรุณอมรินทร์ ดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าร่วมกับงานโครงการของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณโดยรอบโรงพยาบาลศิริราช คาดว่าจะเสร็จสิ้นในปี 2565 รวมเวลาดำเนินการ 7 ปี
ส่วนที่เหลืออีก 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการติวานนท์-แจ้งวัฒนะ, โครงการลาดพร้าว-รามคำแหง, โครงการสาทร-เจริญราษฎร์ และโครงการเขตพื้นที่เมืองชั้นใน สำหรับโครงการที่ กฟน. อยู่ระหว่างดำเนินการในปัจจุบัน ประกอบด้วย 6 โครงการ คือ โครงการจิตรลดา ปทุมวัน และพญาไท ส่วนเพิ่มเติม, นนทรี, พระราม 3 และรัชดาภิเษก-พระราม 9
“7 โครงการที่ กฟน.จะดำเนินการ จะไม่มีผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าเดิม เว้นแต่ผู้ที่ขอใช้ไฟฟ้าใหม่หรือเปลี่ยนแปลงการใช้ไฟฟ้าเป็นระดับแรงดันสูงตั้งแต่ 12,000 โวลต์ขึ้นไป และผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีพื้นที่อยู่ในระยะ 50 เมตรจากขอบถนน ซึ่งจะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ กฟน.เพื่อรับทราบข้อกำหนดมาตรฐานในการติดตั้งอุปกรณ์ที่รองรับกับระบบสายไฟฟ้าใต้ดินโดยจะมีการคิดค่าบริการขอใช้ไฟฟ้าระดับแรงดันสูงเพิ่มเติมจากเดิมนับตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคมปีนี้เป็นต้นไป” นายนิพนธ์กล่าว