ผู้จัดการรายวัน 360 - พ่อเมืองกาญจนบุรี ดึงทุกภาคส่วนร่วมพัฒนา “โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวถนนปากแพรก” ย่านการค้าในอดีตเมื่อ 185 ปีก่อนให้เป็นจุดขายใหม่ด้านการท่องเที่ยว พร้อมสนับสนุนงบประมาณไม่อั้นเร่งจัดระเบียบและพัฒนาทุกด้าน ฟาก ททท. กาญจนบุรี ขานรับ เตรียมเสนอเป็นหนึ่งในโครงการ “เขาเล่าว่า” ชูจุดเด่นพื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้และสร้างสรรค์แห่งสังคม คาดปี 61 ภาคท่องเที่ยวทำรายได้เข้าจังหวัด 2 หมื่นล้านบาท
นายศักดิ์ สมบุญโต ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า จังหวัดกาญจนบุรี กำลังเร่งผลักดัน “โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวถนนปากแพรก” ซึ่งเป็นถนนเก่าแก่ตั้งแต่ยุคก่อตั้งเมืองกาญจนบุรี ในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อราว 185 ปีก่อน เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรี ตลอดจนสร้างรายได้ให้ชุมชน พร้อมพัฒนาคุณภาพและยกระดับถนนปากแพรกถนนสายแรกของเมืองกาญจนบุรีให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอันจะนำไปสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนต่อไป
โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนชุมชนในพื้นที่ ประกอบด้วย สำนักงานจังหวัดกาญจนบุรี สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกาญจนบุรี สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี เทศบาลเมืองกาญจนบุรี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกาญจนบุรี ผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ต แพอาหาร และบริษัทท่องเที่ยว โดยมีการร่วมหารือถึงแนวทางการพัฒนาการจัดการและสร้างการรับรู้แก่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ
*** ยกฐานะเป็น “โชว์รูมของดีเมืองกาญจน์” ***
“จังหวัดกาญจนบุรีมีวัตถุประสงค์ที่จะผลักดันถนนปากแพรกให้เป็นถนนคนเดินที่มีชื่อเสียงเทียบเท่ากับจังหวัดอื่นๆ เช่น แพร่ นครสวรรค์ เชียงใหม่ และอื่นๆ โดยจะเน้นพัฒนาให้ถนนปากแพรกเป็นเสมือนโชว์รูมของดีจังหวัดกาญจนบุรี ด้วยการนำเสนอสินค้าท้องถิ่นและความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมของชาวเผ่าต่างๆ ในจังหวัดกาญจนบุรีซึ่งมีมากกว่า 13 เผ่าจากกว่า 1 พันหมู่บ้าน เช่น เผ่ากะเหรี่ยง ปกาเกอะญอ มูเซอ เย้า ลีซอ และอื่นๆ”
นอกจากนั้นยังจัดให้มีพื้นที่สำหรับการแสดงกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมและศิลปะของเยาวชนรุ่นใหม่ ณ บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเบื้องต้นกำหนดจัดขึ้นเฉพาะวันเสาร์ก่อนโดยเริ่มตั้งแต่เวลา 16.00-21.00 น. พร้อมทั้งเชื่อมโยงพื้นที่เข้ากับตลาดโต้รุ่งที่เพิ่งพัฒนาให้มีความสะอาดและทันสมัยด้วยการส่งเสริมให้ร้านค้าแต่ละแห่งมีการจัดทำเมนูอาหารเป็นภาษาอังกฤษเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวด้วยว่า จังหวัดกาญจนบุรีมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาถนนปากแพรกให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของจังหวัด โดยพร้อมสนับสนุนงบประมาณอย่างเต็มที่ในการพัฒนาและจัดระเบียบของชุมชนถนนปากแพรกให้คงความเอกลักษณ์และมีความสวยงามมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบูรณะบ้านเรือนภายในชุมชนพร้อมสนับสนุนการทาสีบ้านเรือนทุกหลังให้เป็นสีเดียวกัน รวมไปถึงการจัดสายไฟฟ้าลงดิน ตลอดจนจัดหาสถานที่จอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว
*** ฟื้นชีวิตย่านการค้าในอดีต ***
ด้าน น.ส.จรรยาลักษณ์ สาธิตกิจ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวเสริมว่า ถนนปากแพรก เป็นถนนสายแรกของจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปี 2374 ณ บริเวณปากแพรก ซึ่งเป็นจุดที่ลำน้ำแควน้อยและแควใหญ่มาบรรจบกันเป็นแม่น้ำแม่กลอง จึงทำให้เป็นย่านการค้าสำคัญของกาญจนบุรีที่แต่ละวันมีการขนส่งสินค้าเป็นจำนวนมาก การพัฒนา “โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวถนนปากแพรก” จึงเท่ากับเป็นการสร้างบรรยากาศการค้าในยุคอดีตให้กลับมาคึกคักอีกในปัจจุบัน
ถนนปากแพรก ยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทยอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นย่านที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน คชวัตร) ประสูติ และผนวช ณ วัดเทวสังฆาราม ทั้งยังเป็นสถานที่เกิดของบุคคลสำคัญอีกหลายท่าน อาทิ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีคนที่สองของประเทศไทย นายแพทย์ประเวศ วะสี และนายบุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ ผู้ได้รับฉายา “วีรบุรุษสงครามของรถไฟสายมรณะ”
*** แหล่งประวัติศาสตร์ “สงครามโลก ครั้งที่ 2 ***
จุดเด่นของของชุมชนและถนนสายนี้คือเรื่องราวประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งผู้คนย่านนี้ต่างมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์สงครามและช่วยให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตมาได้ด้วยดี โดยเฉพาะบ้าน “บุญผ่อง แอนด์ บาร์เดอร์” (สิริโอสถ) ซึ่งอดีตเป็นร้านขายของชำและมีทหารญี่ปุ่นซื้ออาหารและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ จึงเห็นความยากลำบากของเชลยต่างชาติที่ถูกเกณฑ์มาทำทางรถไฟสายมรณะ จึงแอบช่วยอย่างลับๆ มาโดยตลอด เช่น แอบส่งยารักษาโรคมาลาเรียน เครื่องมือแพทย์ เครื่องมือสื่อสาร ตลอดจนช่วยเชลยที่หนีจากค่ายญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งด้วย ทำให้เชลยที่รอดชีวิตกลับไปสำนึกบุญคุณจนให้สมญานามว่าเป็น “วีระบุรุษสงครามของรถไฟสายมรณะ” และช่วยให้ไทยไม่ต้องถูกปฏิบัติอย่างผู้แพ้สงคราม
นอกจากนี้ยังมี “บ้านแต้มทอง” บ้านคหบดีเก่า สถาปัตยกรรมแบบจีนอายุประมาณ 150 กว่าปี สร้างโดยช่างชาวจีนในสมัยรัชกาลที่ 3 ยังคงมีข้าวของเครื่องใช้และของเก่าเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสไทรโยค เมื่อปี 2420 รวมถึง “บ้านสหกุลพาณิชย์” ซึ่งเป็นบ้านเก่าที่ทหารญี่ปุ่นเคยขอเช่าเป็นที่พักของนายทหารและติดตั้งปืนกลบนดาดฟ้า มีหลุมหลบภัยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในห้องใต้ดินภายในตัวบ้านและยังคงสภาพสมบูรณ์ นับเป็นสิ่งที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ จังหวัดกาญจนบุรี จึงต้องการพัฒนาส่งเสริมให้ถนนปากแพรก ให้เป็นถนนคนเดินที่สามารถเล่าเรื่องเมืองกาญจนบุรีได้ตลอดไป
*** ผลักดันเข้าโครงการ “เขาเล่าว่า” หวังรายได้ 2 หมื่นล้านบาทในปี 61 ***
นายวิศรุต อินแหยม ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกาญจนบุรี กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันจังหวัดกาญจนบุรีมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติปีละประมาณ 8 ล้านคน ล่าสุดในปี 2558 สามารถทำรายได้เข้าจังหวัดประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท มีอัตราการเติบโตประมาณ 8% โดยคาดว่าจะทำรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นล้านบาทภายในปี 2561
วัตถุประสงค์หนึ่งของ “โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวถนนปากแพรก” จึงต้องการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน โดย ททท. สำนักงานกาญจนบุรี มีแนวคิดที่จะผลักดันให้ถนนปากแพรกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “เขาเล่าว่า” ของ ททท. โดยต้องการนำเสนอจุดเด่นด้านพื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้และสร้างสรรค์แห่งสังคม หรือ “พิพิธภัณฑ์มีชีวิต” เพื่อนำเสนอเรื่องราวอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ
“ในเบื้องต้นหน่วยงานต่างๆ ได้มีการจัดประชุมชุมชนถึงกระบวนการมีส่วนร่วม เน้นการปลุกจิตสำนึกหวงแหนถิ่นเก่าบ้านเกิดให้คงอยู่ และพร้อมที่จะถ่ายทอดสู่รุ่นต่อๆไป รวมถึงประสานกับโรงแรม รีสอร์ท ที่พัก ตลอดจนแพอาหารต่างๆ ให้มีการแนะนำนักท่องเที่ยวได้รู้จักถนนปากแพรกอย่างกว้าง โดยระยะแรกเน้นสร้างการรับรู้สู่ประชาชนในพื้นที่ก่อนเพื่อจะได้ร่วมกันประชาสัมพันธ์ในวงกว้างต่อไป” นายวิศรุต กล่าวในตอนท้าย